“แมมมอธ” โรงงานยักษ์ดูดคาร์บอน"ใหญ่ที่สุดในโลก" ความหวังสู้ภัยโลกเดือด?
"Mammoth" (แมมมอธ) ไม่ใช่ช้าง แต่เป็นโรงงานดักจับอากาศโดยตรง หรือ Direct Air Capture (DAC) เชิงพาณิชย์แห่งที่สองของ Climeworks บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์ มีขนาดใหญ่กว่า Orca (ออร์ก้า) เครื่องดูดคาร์บอนเครื่องแรกที่เปิดใช้ในปี 2021 ถึง 10 เท่า
“การดักจับอากาศโดยตรง” คืออะไร
เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อดูดอากาศและดึงคาร์บอนออกไปได้โดยตรงจากการใช้สารเคมีภายในเครื่อง จากนั้นคาร์บอนที่แยกออกมาจะถูกฉีดลึกลงไปใต้ดิน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นของแข็งได้
Climeworks วางแผนที่จะขนส่งคาร์บอนลงใต้ดิน ซึ่งมันจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นหินตามธรรมชาติ และกักเก็บเจ้าคาร์บอนเหล่านี้ไว้ใต้ดินอย่างถาวร ซึ่ง Climeworks กำลังร่วมมือกับบริษัท Carbfix ในประเทศไอซ์แลนด์ในกระบวนการที่เรียกว่า กระบวนการอายัด (sequestration process) คือ การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน คือการขนส่งไปยังสถานที่จัดเก็บและเก็บกักมันไว้ในสถานที่ที่มันจะไม่สามารถกลับเข้าสู่บรรยากาศได้ (สถานที่ดังกล่าวปกติมักจะเป็นโพรงทางธรณีวิทยา) การดำเนินการทั้งหมดจะใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพที่สะอาดและมีอย่างอุดมสมบูรณ์ของไอซ์แลนด์
โซลูชันด้านสภาพภูมิอากาศยุคใหม่อย่าง DAC กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นจากรัฐบาลและอุตสาหกรรมเอกชน เนื่องจากมนุษย์ยังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นในชั้นบรรยากาศสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2566
ในขณะที่โลกยังคงร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลลัพธ์ที่รุนแรงขึ้นทั้งต่อมนุษย์และธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล่าวว่า โลกจำเป็นต้องค้นหาวิธีกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ นอกเหนือจากการตัดเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปอย่างรวดเร็ว แต่เทคโนโลยีการกำจัดคาร์บอน เช่น DAC ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่ามีราคาแพง สิ้นเปลืองพลังงาน และไม่ได้รับการพิสูจน์ในวงกว้าง
รู้จัก "แมมมอธ"
Climeworks เริ่มสร้าง Mammoth ในเดือนมิถุนายนปี 2022 โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นโรงงานดักจับคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการออกแบบโมดูลาร์พร้อมพื้นที่สำหรับ "ภาชนะเก็บก๊าซเรือนกระจก" (collector containers) จำนวน 72 โมดูล ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสูญญากาศของเครื่องที่ดักจับคาร์บอนจากอากาศ ซึ่งสามารถวางซ้อนกันและเคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างง่ายดาย
เมื่อ “แมมมอธ” เดินเครื่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจะสามารถดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้ 36,000 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการนำรถยนต์ที่ใช้น้ำมันประมาณ 7,800 คันออกจากถนนเป็นเวลาหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม Climeworks ไม่ได้ระบุต้นทุนที่ชัดเจนสำหรับการกำจัดคาร์บอนแต่ละตัน แต่บอกเพียงว่ายังอยู่ที่เกือบๆ 1,000 ดอลลาร์หรือราว 37,000 บาทต่อตัน
ในขณะที่บริษัทเดินหน้าขยายขนาดโรงงานและลดต้นทุน เป้าหมายคือการไปถึงต้นทุนที่ระดับ 300 ถึง 350 ดอลลาร์ต่อตันภายในปี 2573 ก่อนที่จะแตะ 100 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2593
“ก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
Stuart Haszeldine ศาสตราจารย์ด้านการดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวถึงภารกิจนี้ โดย Climeworks จะเพิ่มขนาดอุปกรณ์ในการดักจับมลพิษคาร์บอน แต่เขาเตือนว่า “แมมมอธ” ยังเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น ในขณะที่อุปกรณ์กำจัดคาร์บอนทั้งหมดในโลกสามารถกำจัดคาร์บอนได้เพียงประมาณ 0.01 ล้านตันต่อปี ซึ่งห่างไกลจาก 70 ล้านตันต่อปีที่ต้องทำในปี 2573 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศโลก ตามรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ
มีโรงงาน DAC ที่ใหญ่กว่ามากจากบริษัทอื่นที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ตัวอย่างเช่น Stratos ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างในเท็กซัส ได้รับการออกแบบมาเพื่อกำจัดคาร์บอน 500,000 ตันต่อปี ตามข้อมูลของ Occidental บริษัทน้ำมันที่อยู่เบื้องหลังโรงงานนี้
สำหรับ Climeworks ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพมหาศาล และบริษัทกล่าวว่า มีความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ Jan Wurzbacher ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท กล่าวว่า Mammoth เป็นเพียงขั้นตอนล่าสุดในแผนของ Climeworks ที่จะขยายการกำจัดคาร์บอนได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 และ 1 พันล้านตันภายในปี 2593 แผนดังกล่าวรวมถึงโรงงาน DAC ที่มีศักยภาพในเคนยาและสหรัฐอเมริกา