posttoday

อีก 3 ปี สายการบินต้องเข้าสู่ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ

17 พฤษภาคม 2567

อีก 3 ปี สายการบินระหว่างประเทศจะถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องเข้าสู่มาตรการทางการตลาด (Global Market -Based Mechanism: GMBM) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (The International Civil Aviation Organization: ICAO) ที่ได้ประกาศมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก

โดยตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมการบินของโลกสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงระดับสูงสุดในปี ค.ศ. 2020 เท่านั้น

และหลังจากปี ค.ศ. 2020 จะต้องรักษาระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้อยู่ในระดับคงที่ คือ ไม่ให้เกินจากระดับการปล่อยสูงสุดดังกล่าวด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีและประสิทธิภาพน้ำมันเชื้อเพลิงการบิน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของสายการบิน และให้สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ ใช้มาตรการทางการตลาด สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ โดยเรียกมาตรการดังกล่าวว่า Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยมาตรการ CORSIA แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

- Pilot Phase (ช่วงปี ค.ศ. 2021-2023) เป็นภาคสมัครใจ ซึ่งสายการบินจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ ส่วนคาร์บอนเครดิตที่ ICAO ยอมรับและรับรองให้สามารถใช้ชดเชยใน First Phase นี้ได้ มี 11 มาตรฐาน เช่น Verified Carbon Standard Program (VCS) ของ VERRA, The Gold Standard (GS), Clean Development Mechanism, American Carbon Registry เป็นต้น ในระยะนี้ นักวิชาการคาดการณ์ว่าจะไม่มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย เนื่องจากหลายสายการบินปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน Baseline เมื่อเทียบกับปี 2019 เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การบินลดลง

 

อีก 3 ปี สายการบินต้องเข้าสู่ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ



- First Phase (ช่วงปี ค.ศ. 2024-2026) เป็นภาคสมัครใจ เมื่อสายบินสมัครใจเข้าร่วมมาตรการ CORSIA แล้ว จะต้องมีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละเที่ยวบินระหว่างประเทศ และต้องทำการลดก๊าซเรือนกระจกลง ให้ปริมาณการปล่อยไม่เกินกว่าร้อยละ 85 ของ Baseline เมื่อเทียบกับปี 2019 ส่วนในปริมาณที่ปล่อยเกินนั้น สายการบินสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยได้เป็นทางเลือก โดยระยะนี้จะยังไม่มีบทลงโทษ สำหรับคาร์บอนเครดิตที่ ICAO ยอมรับและรับรองให้สามารถใช้ชดเชยใน First Phase นี้ได้ มี 2 มาตรฐาน (จากที่สมัครเข้ามา 11 มาตรฐาน) ได้แก่ American Carbon Registry และ Architecture for REDD+ Transactions โดยทั้ง 2 มาตรฐานเป็นของสหรัฐอเมริกา ส่วนมาตรฐานอื่นๆ เช่น VCS, GS รวมทั้งมาตรฐาน Premium T-VER ของประเทศไทยด้วย จะได้รับการรับรองแบบมีเงื่อนไข ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาอีกครั้ง และจากการคาดการณ์ของนักวิชาการในระยะนี้สายการบินจะมีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตไปชดเชยประมาณ 100-200 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

- Second Phase (ช่วงปี ค.ศ. 2027-2029) เป็นภาคบังคับ ซึ่งทุกสายบินที่เข้าข่ายต้องเข้าร่วมภายใต้มาตรการ CORSIA และต้องมีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทำการลดก๊าซเรือนกระจกลง และหากปริมาณการปล่อยเกินกว่า Baseline เมื่อเทียบกับปี 2019 สายการบินจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย โดยระยะนี้จะมีบทลงโทษ หากสายการบินไม่ดำเนินการ สำหรับระยะนี้ทาง ICAO ยังไม่เปิดการพิจารณาคาร์บอนเครดิตที่จะใช้ชดเชย

 

ทั้งนี้ International Air Transport Association (IATA) คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการบินของโลกต้องใช้คาร์บอนเครดิตชดเชยภายใต้มาตรการ CORSIA รวมทั้งหมดประมาณ 2.667 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

ปี 2023 ประเทศไทย โดย TGO ได้ส่งมาตรฐาน Premium T-VER ให้กับ Technical Advisory Body (TAB) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO เพื่อพิจารณาให้ Premium T-VER เครดิตเข้าไปอยู่ในรายชื่อของคาร์บอนเครดิตที่สามารถใช้ชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการบิน ภายใต้มาตรการ CORSIA ในช่วง 2024 - 2026 (First Phase) และได้รับแจ้งผลการประเมินจาก ICAO Council เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โดย Premium T-VER ได้รับการรับรองแบบมีเงื่อนไข ซึ่งประเด็นที่ต้องดำเนินการปรับปรุงและส่งเอกสารเพิ่มเติมนั้น TGO ได้จัดเตรียมข้อมูลและส่งให้ TAB เรียบร้อยแล้วเมื่อมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่ง ICAO จะประกาศผลการพิจารณาอีกครั้งในช่วงปลายปี 2567 หากผลการพิจารณาออกมาว่า Premium T-VER เครดิต สามารถใช้ชดเชยในภาคการบินได้ จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อ Premium T-VER เครดิตจำนวนมาก และส่งผลให้ประเทศไทยมีรายรับจากการขายคาร์บอนเครดิตให้ต่างประเทศและสามารถป้องกันการรั่วไหลของเงินตราออกนอกประเทศได้ เพราะสายการบินของไทยสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศมาชดเชยได้ ก็จะช่วยป้องกันการรั่วไหลของเงินตราออกนอกประเทศได้เช่นกัน

 

ที่มา :

https://www.icao.int/environmental-protection/CORSIA/Pages/CORSIA-background-information.aspx

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO)