posttoday

“โครงการ Thailand Liquid Crystals in SPace” จับมือนาซาศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ

21 พฤษภาคม 2567

“ศุภมาส” เปิดประชุม “โครงการ Thailand Liquid Crystals in SPace” พร้อมขับเคลื่อนการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ ผลงาน บพค. - ม.เกษตรฯ - จิสด้า - องค์การนาซา ผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมของมวลมนุษยชาติ เตรียมขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติในเดือนกุมภาพันธ์หน้านี้

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดการประชุมความก้าวหน้าของโครงการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ (Thailand Liquid Crystals in Space (TLC)) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมีการประสานความร่วมมือด้านงานวิจัยในอวกาศระหว่างคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (องค์การนาซา, NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ความสำเร็จในการดำเนินงานของโครงการความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมการทำงานวิจัยของบุคลากรร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก โดยมี ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 

“โครงการ Thailand Liquid Crystals in SPace” จับมือนาซาศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ
 

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานการดำเนินการโครงการฯ  รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม หัวหน้าโครงการเป็นผู้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของโครงการฯ ร่วมกับผู้แทนจาก NASA และมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ศ.ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เข้าร่วม

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ในวันนี้เรามารวมตัวกันเพื่อสร้างหมุดหมายสำคัญในการเดินทางของวิทยาศาสตร์อวกาศและการวิจัยเพื่อประเทศไทย และร่วมหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ (Thailand Liquid Crystals in Space (TLC)) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสำรวจอวกาศและวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ในขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการปล่อยอุปกรณ์เพย์โหลด (payload) สำหรับการศึกษาผลึกเหลวบนสถานีอวกาศนานาชาติอวกาศในปี 2568 โดยโครงการได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นผลจากความทุ่มเท และความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร รวมถึงไปถึงบุคลากรผู้เกี่ยวข้องทุกคน

“โครงการ Thailand Liquid Crystals in SPace” จับมือนาซาศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ

 "การทดลองผลึกเหลว (Liquid Crystal) ในอวกาศของโครงการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีสูงกว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น จอภาพ LCD และอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ซึ่งสามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเยาวชนในประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนร่วมในโครงการสำคัญเพื่อการพัฒนาด้านอวกาศของมวลมนุษยชาติ” น.ส.ศุภมาส กล่าว
 

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงโครงการ TLC นี้ซึ่งมีที่มาจาก MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์การ NASA ที่ลงนามไปเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เพื่อการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศว่า จากโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างให้ประชาชน เยาวชน นักวิทยาศาสตร์ได้มองให้ไกลขึ้นจากพื้นโลก  มองไกลไปถึงนอกโลก เด็ก ๆ รุ่นใหม่จะได้ประโยชน์มากจากการทำวิจัยด้านอวกาศ ประเทศไทยเองมีนโยบายที่ชัดเจนโดยเฉพาะรัฐบาลไทยให้ความสำคัญด้านนี้มาก  โครงการนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้นักวิจัยเริ่มการวิจัยขั้นสูงไปยังนอกโลกมากขึ้น  ซึ่งประเทศไทยในอดีตเรายังมีน้อย มี GISTDA แห่งเดียวที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ  ข้อดีของโครงการนี้คือประชาชนเยาวชนได้เห็นตัวอย่างในการมองให้ลึกขึ้นจากเดิมอยู่แต่ในโลกก็มองไปนอกโลกด้วย

ด้าน Mr. Robert Hampton, ISS payload operation Director ได้พูดถึงโปรแกรมของ ISS ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยสามารถทำงานร่วมกับ implementation partner ภาคเอกชนในกำกับของ NASA  เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยโดยการสร้างสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ สร้างกระบวนการการวิจัย กระบวนการทดสอบความปลอดภัยในอวกาศร่วมกันเพื่อยื่นข้อเสนอโครงการไปยังห้องปฏิบัติการแห่งชาติสหรัฐอเมริกาบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS U.S. National Laboratory)ได้  มิสเตอร์โรเบิร์ตได้กล่าวแสดงความประทับใจมากที่เห็นว่าโครงการ TLC ดำเนินการมาได้ไกลมากนับจากวันที่ลงนาม MOU ระหว่าง NASA และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับโครงการนี้  ดีใจมากที่เห็นการสนับสนุนจากบพค. จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจาก GISTDA ที่ร่วมกันสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง  มิสเตอร์โรเบิร์ตยังพูดถึงนิสิตนักศึกษา นักวิจัย และวิศวกรในโครงการ TLC ว่ามีความสามารถสูงและสามารถสร้างเพย์โหลดได้ก้าวหน้าไปกว่าแผนงานที่วางไว้ซึ่งเมื่อเพย์โหลดนี้ขึ้นสู่โอกาสในปีหน้านี้การทดลองแรกนี้โดยคนไทยจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างแท้จริง

“โครงการ Thailand Liquid Crystals in SPace” จับมือนาซาศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ

  

โครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) นี้มีที่มาจากบันทึกความเข้าใจ (MOU)  ระหว่างองค์การ NASA โดย Dr. Meredith M. Mckay, Director of Human Exploration and Operations Division และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564  เพื่อให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  (GISTDA) นำโดยรศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าร่วมในการศึกษาผลึกเหลวบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS) โดย MOU นี้เป็น MOU แรกระหว่าง NASA และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับการทดลองอวกาศ

การทดลองผลึกเหลว (Liquid Crystal) ในอวกาศนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยี Liquid Crystal Display (LCD) ขั้นสูงกว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  LCD ใช้เป็นหน้าจอ โทรศัพท์มือถือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประชากรของประเทศไทยในทุกๆระดับชั้น  อุตสาหกรรมผลิตจอภาพ LCD ในปัจจุบันนี้มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มจะโตถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีพ.ศ. 2572 ดัง ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประชากรโลกทุกระดับชั้น ในการทำการทดลองผลึกเหลวในอวกาศนั้นจะกำจัดผลของแรงโน้มถ่วงของโลกไปได้ ซึ่งจะลดปริมาณจุดบกพร่องภายในผลึกเหลวลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นผลึกเหลวในอวกาศจะตอบสนองต่อสนามไฟฟ้าได้ดี การพัฒนานี้จะทำให้ได้หน้าจอ LCD ที่มีความเร็วสูง ใช้ปริมาณไฟต่ำ และมีความคมชัดดีเยี่ยม ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดให้สามารถสร้างบนพื้นโลกในสภาวะใกล้เคียงกับอวกาศได้ในอนาคต นอกจากนี้ NASA มีแผนที่จะนำเทคโนโลยี LCD นี้ไปใช้กับ helmet ของชุดนักบินอวกาศ และพัฒนาเทคโนโลยีนี้เป็นกระจกอัจฉริยะไปใช้กับหน้าต่างของกระสวยอวกาศที่สามารถทนความร้อนและรังสีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง