กทม. - โยโกฮามา ร่วมมือลดคาร์บอนฯ ต้นแบบ Net Zero ของภูมิภาคเอเชีย
ภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งไทยและญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมฯภายใต้โครงการความร่วมมือ City to City ระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา ยกระดับการดำเนินงานจัดการปัญหาด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ตรงจุดและครอบคลุมในหลายมิติ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีเปิดและร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ The 4th Workshop on “Net Zero Emissions Business Opportunity under Bangkok-Yokohama City-to-City Program" โดยมี Mr.Yutaka Matsuzawa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น Mr.Otaka Masato เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย Mr.Yamanaka Takeharu นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามา พร้อมคณะผู้บริหารเมืองโยโกฮามา ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งจากประเทศไทยและญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมฯภายใต้โครงการความร่วมมือ City to City ระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดี ในโอกาสที่ได้หารือในความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา ซึ่งทั้ง 2 เมืองมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันอย่างยาวนาน ครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาชน เพื่อยกระดับการดำเนินงาน ในการจัดการปัญหาด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ตรงจุดและครอบคลุมในหลายมิติ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมทานคร ภายใต้แผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ที่เน้นการลดคาร์บอน ทั้งในภาคการขนส่งและภาคพลังงาน เพราะกรุงเทพมหานครถือเป็นเมืองที่เป็นตัวการหลักในการปล่อยคาร์บอนฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินการกายในองค์กร เช่น การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมต่างๆ และที่ขาดไม่ได้และถือเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน และในฐานะองค์กรของรัฐก็ต้องช่วยเหลือภาคเอกชนหรือ SME ที่มีกว่า 3 ล้านราย เพื่อสนับสนุน SME ให้มีองค์ความรู้ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และมีความพร้อมเชิงธุรกิจสีเขียวในเวทีโลก
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และ Mr.Yamanaka Takeharu นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามา กล่าวทิ้งท้ายร่วมกันว่า ความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร – โยโกฮามา จะแน่นแฟ้น และขยายโอกาสในความร่วมมือกันในอีกหลายๆมิติ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเมือง Net Zero ของภูมิภาคเอเชีย
สำหรับการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกรุงเทพมหานคร จัดทำขึ้นเพื่อนำข้อมูลที่ได้นำไปกำหนดมาตรการ หรือดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย "คาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน" ยกตัวอย่างเช่น โครงการเปลี่ยนรถเก็บขนมูลฝอยไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนรถ BRT เป็นรถพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มเส้นทางให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางรางมากขึ้น โดยส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สนับสนุนการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชน โครงการไม่เทรวม ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ และลดมีเทนจากการคัดแยกขยะของประชาชนมากขึ้น เป็นต้น