W-Map 4 เส้นทางคมนาคมทางน้ำสายใหม่ เชื่อม "เรือโดยสาร" กับการเดินทางรอบกรุง
ปลุกแผน W-MAP วงเงิน 8.8 พันล้านบาท รอลุ้นครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ หวังยกระดับเส้นทางเดินเรือโดยสารที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในอนาคต ให้เชื่อมต่อกับการเดินทางรูปแบบอื่นทั้ง ล้อ-ราง-เรือ
แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W-MAP) ในลักษณะ ล้อ-ราง-เรือ เป็นการยกระดับการเดินทางทางน้ำ ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสัญจรและท่องเที่ยว รองรับความต้องการเดินทาง และการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน (ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2564)
รุกคืบหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นสภาพัฒน์ฯ ตอกย้ำโครงการเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ลดปัญหาการจราจรติดขัด รองรับการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคต
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สนข.ได้ศึกษาแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พ.ศ. 2566 - 2575) หรือ W-Map เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดเส้นทางในการเดินทางทางน้ำเพิ่มขึ้นอีก 112.9 กิโลเมตร จากปัจจุบัน 131.2 กิโลเมตร เป็น 244.2 กิโลเมตร
โดยปัจจุบันมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำให้บริการจำนวน 103 แห่ง มีจุดเชื่อมต่อ 8 จุด และมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 61,129 คนต่อวัน เบื้องต้น สนข.จะเร่งรัดแผนคมนาคมทางน้ำระยะสั้นให้เกิดขึ้นในปี 2567 – 2570 จะพัฒนาเส้นทางทางน้ำ 4 เส้นทาง ท่าเรือเพิ่มขึ้นเป็น 164 ท่า และจุดเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นเป็น 30 จุด
สำหรับสถานะดำเนินงานในขณะนี้ สนข.ได้เสนอแผนไปยังกระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2567 และได้มีหนังสือนำเสนอต่อ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยเชื่อว่าหากพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางน้ำนี้ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางของประชาชน ลดปัญหาการจราจรติดขัด
ทั้งนี้ตามแผนพัฒนาระยะสั้น (ระหว่างปี 2567 - 2570) จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 56.2 กิโลเมตร ประกอบด้วย
S1 คลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง
ลักษณะทางกายภาพ
• ความกว้าง 40 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร
• ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนช่วงระหว่างประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ – คลองแสนแสบ
เส้นทางเดินเรือ
ช่วงสายไหมถึงพระโขนง ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร จำนวน 23 ท่าเรือ
S2 คลองแสนแสบ ช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงวัดบำเพ็ญใต้
ลักษณะทางกายภาพ
• ความกว้าง 20 - 35 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ความยาว 24.0 กิโลเมตร
• ปัจจุบันได้รับงบประมาณปี 2567 และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างเขื่อนช่วงทางด่วนเฉลิมมหานคร - คลองตัน
เส้นทางเดินเรือ
• ช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงวัดบำเพ็ญใต้ ระยะทาง 6.8 กิโลเมตร จำนวน 13 ท่าเรือ
• ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงวัดศรีบุญเรือง (เส้นทางเดิม) ระยะทาง 17.2 กิโลเมตร จำนวน 28 ท่าเรือ
S3 คลองบางกอกน้อย ช่วงประตูน้ำฉิมพลี – ศิริราช
ลักษณะทางกายภาพ
• ความกว้างความกว้าง 40 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ความยาว 17.1 กิโลเมตร
• ปัจจุบันมีเขื่อนตลอดริมฝั่งคลองทั้งสองฝั่งแล้ว
เส้นทางเดินเรือ
ช่วงประตูน้ำฉิมพลี ถึงศิริราช ระยะทาง 17.1 กิโลเมตร จำนวน 18 ท่าเรือ
S4 คลองเปรมประชากร ช่วงท่า SCG – ท่าสวนสาธารณะ ปตท.
ลักษณะทางกายภาพ
• ความกว้าง 12 - 30 เมตร ความลึก 2.5 – 3.0 เมตร ความยาว 6.6 กิโลเมตร
• ปัจจุบันมีการก่อสร้างเขื่อนเสร็จสิ้น 80%
เส้นทางเดินเรือ
• ช่วงท่า SCG ถึงท่าสวนสาธารณะ ปตท. ระยะทาง 6.6 กิโลเมตร จำนวน 7 ท่าเรือ
ส่วนแผนระยะยาวที่จะดำเนินการระหว่างปี 2571 – 2575 ระยะทางเพิ่มขึ้น 56.7 กิโลเมตร จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
L1 : เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร
ช่วงท่าสวนสาธารณะ ปตท. ถึง วัดรังสิต 13.7 กิโลเมตร 13 ท่าเรือ
L2 : เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย
ช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 15.0 กิโลเมตร จำนวน 3 ท่าเรือ
L3 : เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์
ช่วงวัดชัยพฤกษมาลา ถึง ประตูน้ำมหาสวัสดิ์ ระยะทาง 28 กิโลเมตร จำนวน 13 ท่าเรือ