posttoday

EV-AI โอกาสไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาค

10 กันยายน 2567

เนคเทค เผย เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ลงทุนสูง หากรัฐต้องการเป็นฐานเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาค ต้องเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัด ชี้ไทยมีจุดอ่อนด้านการออกแบบ IC แนะเร่งพัฒนาบุคลากร

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า เซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสององค์ประกอบหลักที่ขับเคลื่อนให้เทคโนโลยีสมัยใหม่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราอย่างที่เราคาดไม่ถึง 

อีกทั้งเป็นกุญแจสำคัญของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมต่อกันและสื่อสารกันได้ ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีผลในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานหมุนเวียน 

นอกจากนี้เซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังถูกใช้ในระบบขนส่งอัจฉริยะ ช่วยให้การจราจรมีความปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว และประหยัดพลังงาน ถูกใช้ในระบบดูแลสุขภาพ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้วยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรอัจฉริยะ ช่วยให้เกษตรกร สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน 

EV-AI โอกาสไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาค

บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการบริหาร เนคเทค สวทช.

ดังนั้น เซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้านนายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศไทย ตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานไปจนถึงการประยุกต์ใช้ ในอุตสาหกรรม และเซนเซอร์อัจฉริยะมีความสำคัญต่อ IoT และอุปกรณ์ ที่เชื่อมต่อการใช้งานเซนเซอร์อัจฉริยะ สามารถบูรณาการเข้ากับแอปพลิเคชันที่หลากหลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา 

ดังนั้นคาดว่าในปีต่อ ๆ ไป อุตสาหกรรมเซนเซอร์อัจฉริยะจะยังคงเติบโตและสร้างสรรค์ช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาและการลงทุนในอนาคต รวมถึงช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งการพัฒนาเชิงพาณิชย์สำหรับเทคโนโลยีเซนเซอร์ของไทยให้เป็นหนึ่งที่สำคัญในระบบนิเวศเซนเซอร์อัจฉริยะของโลกได้

EV-AI โอกาสไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาค

ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค

ขณะที่ นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า 3 เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตประกอบด้วย เทคโนโลยีแรกคือ ควอลตัม เซ็นเซอร์ และ คลื่นเทระเฮิรตซ์ เซ็นเซอร์ ควอลตัม เซ็นเซอร์ ทำให้เซ็นเซอร์สามารถตรวจวัดคลื่นขนาดเล็กได้แม่นยำมากขึ้น เช่น การวัดสัญญาณสมอง การวัดค่าแรงโน้มถ่วงแม้ในระยะที่ห่างกันเพียงไม่กี่เมตร เป็นต้น

ส่วนคลื่นเทระเฮิรตซ์ เซ็นเซอร์ คือย่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงสุดท้ายที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยกำลังศึกษาและพัฒนาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม โดยคลื่นเทระเฮิรตซ์มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่างคลื่นไมโครเวฟและคลื่นอินฟาเรด ทำให้สามารถตรวจจับ และเอ็กซเรย์ได้แบบไม่มีอันตราย ไม่ทำลายเนื้อเยื่อ และมีโอกาสนำมาใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี 6G เพื่อการรักษาทางไกลได้

เทคโนโลยีที่สองคือ Low-Power Sensor ทำให้เซ็นเซอร์สามารถทำงานเองได้ด้วยพลังงานของตนเอง และสุดท้ายคือ เทคโนโลยี AI เซ็นเซอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการพูดถึงการใช้เทคโนโลยี AI อย่างกว้างขวาง แต่หากย้อนกลับไปดูที่ต้นทาง AI จะทำงานได้ต้องขึ้นอยู่กับ ข้อมูล ซึ่งการได้มาซึ่งข้อมูล ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี IoT ซึ่งการทำให้ IoT ทำงานก็ต้องเริ่มมาจากการทำงานของระบบเซ็นเซอร์ จึงเป็นเทคโนโลยีต้นน้ำที่สำคัญ โดยที่ผ่านมาเนคเทคมีการพัฒนาเรื่องดังกล่าวครบทั้ง 3 ส่วน โดยมีเส้นทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี 

EV-AI โอกาสไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาค EV-AI โอกาสไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาค EV-AI โอกาสไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นเนคเทคได้ก่อตั้ง Thai Microelectronics Center (TMEC) เป็น MEMS Foundry แห่งแรกของไทย ตั้งแต่ปี 2538 เปิดให้บริการพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ MEMS และเซนเซอร์ ในกลุ่ม More Than Moore ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การสร้างต้นแบบ การทดสอบไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ในปริมาณน้อยถึงปานกลาง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมา ได้แก่  MEMS Pressure Sensors, Silicon Particle Detector, Si MEMS Microphones, Si MEMS Gyroscopes และ Ion-Sensitive Field-Effect Transistor (ISFET)

อีกบทบาทสำคัญของ TMEC คือการเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศและเสริมสร้างกำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต โดยเนคเทค สวทช. พร้อมนำองค์ความรู้ด้านเซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์ เข้าไปมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงในมิติของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการและ นักลงทุนทั่วไป ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเสริมระบบนิเวศการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซนเซอร์อัจฉริยะภายในประเทศให้มีความพร้อมก้าวสู่ตลาดการแข่งขันในระดับสากล 

EV-AI โอกาสไทยสู่ฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาค

ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค

นายชัย กล่าวว่า เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เป็นเทคโนโลยีที่ลงทุนสูง หากรัฐบาลมีความสนใจในเรื่องของการที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนทางด้านนี้ ต้องตัดสินใจเลือกก่อนว่าจะลงทุนเพื่อผลิตภัณฑ์ประเภทใดและต้องมีอิมแพ็คในระดับภูมิภาค เช่น อุตสาหกรรมรถEV หรือ AI ในระบบกล้อง CCTV และ สมาร์ท มิเตอร์ เป็นต้น  ไม่ใช่ทำเพื่อตลาดในประเทศอย่างเดียว เนื่องจากตลาดเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับการลงทุนสูง

ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพในด้านการออกแบบ IC หรือ แผงวงจร และการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งยังคงขาดแคลนอย่างมาก การลงทุนในด้านการออกแบบและทดสอบ IC เป็นส่วนสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน