posttoday

“EEC เมืองใหม่” ขายแนวคิด “Net Zero City” อนาคต 10 ปีข้างหน้า

11 กันยายน 2567

การพัฒนาเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ถือเป็นโครงการสำคัญของอีอีซี สกพอ. จึงได้พัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ภายในรัศมี 30 กม. รอบสนามบินอู่ตะเภา และตั้งใจให้เป็นมากกว่าแค่ Smart City แต่คือเมืองต้นแบบ Net Zero City ในอนาคต

Where

โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ มีพื้นที่ประมาณ 14,619 ไร่ ตั้งอยู่ใน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อยู่ห่างจากพัทยา-จอมเทียนประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 15 กิโลเมตร โดยที่ตั้งโครงการฯ อยู่ติดทางหลวงหมายเลข 331 มีทางหลวง 36 อยู่ด้านทิศเหนือ

 

EEC นำโดย ดร.จุฬา สุขมานพ  เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้นำทีมงาน สื่อมวลชนและโพสต์ทูเดย์ลงพื้นที่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โดยเฉพาะรถไฟไฮสปีด สนามบินอู่ตะเภา และโครงการสร้าง EEC Capital City - เมืองใหม่ หรือ Smart City ของ EEC ในอนาคต โดยได้พาเข้าชมในพื้นที่บริเวณคลองหินดาด 1 ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง ชลบุรี ซึ่งจะเป็นพื้นที่ตั้งของ Centerpoint หรือ ศูนย์บริหารจัดการเมืองของ EEC ในอนาคต โดยสิ้นปีนี้จะสามารถจัดสรรพื้นที่ได้รวม 5,975 ไร่ สำหรับการพัฒนาระยะแรก

 

“EEC เมืองใหม่” ขายแนวคิด “Net Zero City” อนาคต 10 ปีข้างหน้า

 

การพัฒนาเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จึงถือเป็นโครงการสำคัญของอีอีซี สกพอ. จึงได้พัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ภายในรัศมี 30 กม. รอบสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออก (EEC Aerotropolis) เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบิน ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน และมีผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ 70 ล้านคน ในปี 2580

 

โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2580 จะมีประชากร โดยรวมประชากรในพื้นที่เดิม และคนเดินทางเข้าออกพื้นที่ประมาณ 350,000 คน เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความแออัดของกรุงเทพฯ เป็นกรุงเทพฯ แห่งที่ 2 

 

“EEC เมืองใหม่” ขายแนวคิด “Net Zero City” อนาคต 10 ปีข้างหน้า

 

ดร.จุฬา สุขมานพ  กล่าวในการลงพื้นที่บริเวณ Centerpoint ของ EEC Capital City ในอนาคตว่า เวลานี้คือการทํางานให้พร้อมสำหรับสําหรับอุตสหกรรม 5.0 การทำตลาดสำหรับยุคต่อไปจึงไม่ใช่แค่ Smart City แต่มันคือ Net Zero City คือการเตรียมความพร้อมสำหรับเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้า คือสิ่งที่ทั้งโลกเขาอยากจะเป็นในปี 2065 

 

Smart City คือศัพท์ยุคปัจจุบันซึ่งคนใช้กันอยู่ แต่ถ้าเราขายในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้ามันขายไม่ได้ เราต้องเอาอนาคตมาขาย เพราะในพื้นที่ นี่คือเมืองที่เตรียมพร้อมไว้สําหรับ 20 ปีข้างหน้า คือเจเนอเรชั่นอีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง และตนจะถือโอกาสเอาโครงการเมืองใหม่นี้ไปทดสอบความสนใจของนักลงทุนด้วย

 

 

HOW

แนวคิดการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติ วิถีชีวิตของมนุษย์ นวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงให้ความสำคัญพื้นที่สีเขียวและน้ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และใช้แนวคิดการออกแบบด้วยธรรมชาติ Nature-based Solutions (NbS) มีการใช้ต้นไม้พื้นถิ่น เพื่อแสดงอัตลักษณ์และส่งเสริมความสมบูรณ์ของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมด้วย

 

“EEC เมืองใหม่” ขายแนวคิด “Net Zero City” อนาคต 10 ปีข้างหน้า


ภูมิสถาปัตยกรรม สร้างสุขภาวะที่ดีให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการ มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคครบครัน ทันสมัยระดับสากล เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะเข้ามาผสมผสานในเมือง โดยใช้ระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน และใช้ Smart City Data Platform, Intelligence Operation Center (IOC) ในการบริหารจัดการเมือง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ลดต้นทุนการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ นำไปสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจ BCG และหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยมีการจัดวางโซนพื้นที่คลัสเตอร์ธุรกิจหลักภายในโครงการ ได้แก่

 

• ย่านศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาค ศูนย์ราชการสำคัญ และศูนย์บริการทางการเงินแห่งอนาคต (CBD)

• ย่านศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต

• ย่านศูนย์การศึกษา วิจัย พัฒนาระดับนานาชาติ

• ย่านศูนย์ธุรกิจ BCG

• ย่านศูนย์ธุรกิจบริการ เช่น การท่องเที่ยวและบริการ กีฬา สันทนาการ โลจิสติกส์

• ย่านที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกกลุ่มรายได้ และ Mixed-use

 

WHEN

การพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค (ระบบไฟฟ้าและพลังงาน ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบบริหารจัดการของเสีย ระบบคมนาคมและขนส่ง ระบบดิจิทัล ระบบอุโมงค์สาธาณูปโภคใต้ดิน หรือ Common Duct) ภายในระเวลา 10 ปี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปี 2575

 

โครงการศูนย์ธุรกิจฯ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2561 โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงาน ดังนี้

 

• วันที่ 22 มีนาคม 2565 ครม. มีมติเห็นชอบให้ สกพอ. เข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ของ ส.ป.ก. บริเวณตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวนประมาณ 14,619 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจฯ

• วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติ กพอ. ครั้งที่ 3/2565 เรื่อง ร่าง แผนปฏิบัติการด้านโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

• วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 กพอ. มีมติเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : ศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ บนพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ 5,795 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม. เห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป

 

“EEC เมืองใหม่” ขายแนวคิด “Net Zero City” อนาคต 10 ปีข้างหน้า

 

ปัจจุบัน สกพอ. อยู่ระหว่างขับเคลื่อนโครงการศูนย์ธุรกิจฯ ตามแผนปฏิบัติการด้านโครงการศูนย์ธุรกิจฯ (แผนปฏิบัติการฯ) ที่ ครม. มีมติเห็นชอบ สกพอ. มีการดำเนินงาน ณ ปัจจุบัน ดังนี้ 


1) สกพอ. มีแผนการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโครงการศูนย์ธุรกิจ ในกรอบพื้นที่ระยะที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5,795 ไร่ ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2568 และจะเริ่มดำเนินการเข้าปรับพื้นที่ ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง ภายในปีบประมาณ 2569 
2) สกพอ. ได้ร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน อยู่ระหว่างดำเนินการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของโครงการศูนย์ธุรกิจฯ

3) สกพอ. ได้ประสาน กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เพื่อรับดำเนินการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการศึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง โครงข่ายถนนภายนอก และภายในโครงการศูนย์ธุรกิจฯ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เอกชนเข้าพัฒนาโครงการต่อไป

 

ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ อาทิ

1) มีเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ที่สามารถรองรับประชากรประมาณ 350,000 คน ภายในปี 2580 รวมทั้งคนในพื้นที่เดิม 


2) สร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง มีแรงงานทักษะสูง มีรายได้ที่สูงขึ้น และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการตามมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ประมาณ 150 -300 กิจการ 3) จากมูลค่าการลงทุนโดยรวมประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท จะสามารถช่วยกระตุ้นการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาทภายใน 10 ปี