ยุทธศาสตร์การท่าเรือฯ มุ่งสู่ Green Port – ท่าเรือสีเขียวของโลก
การท่าเรือย้ำยุทธศาสตร์ 2 D : Digitalization ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และ Decarbonzation กระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องขับเคลื่อนควบคู่กัน
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนงานเพื่อก้าวไปสู่การเป็น ศูนย์กลางการขนส่งทางเรือสีเขียว หรือ Green Port โดยได้ฉายภาพแผนผังความรับผิดชอบของการท่าเรือซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบทั้งหมดภายในงานสัมมนา "Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green" จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2593
ภารกิจของการท่าเรือ ไม่มองว่า เราเป็นแค่ท่าเรือ แต่เราจะพัฒนาท่าเรืออย่างไรให้สามารถรองรับโลจิสติกส์ทั้งระบบและบริการจัดการที่จะทำให้ท่าเรือเป็นท่าเรือที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุดด้วย
“ท่าเรือกรุงเทพ” ในปีนี้ครบ 73 ปีแล้วหากนับรวมกับการก่อสร้างที่ใช้เวลาประมาณ 4 ปี รวมเป็นเวลา 77 ปี วันนี้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางการขนส่งท่าเรือแม่น้ำที่มีความลึกของร่องน้ำอยู่ที่ระดับ 8 เมตร เป็นจุดที่สร้างความเจริญให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่เป็นศูนย์กลางมาอย่างยาวนาน
ทำอย่างไรจะให้ท่าเรือกรุงเทพเกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับคนกรุงเทพฯ และประเทศไทย
นายเกรียงไกรระบุว่า กทท.เห็นความสำคัญและพร้อมที่จะเชื่อมโยงการขนส่งทางแม่น้ำและทางทะเล โดยตั้งใจจะต่อยอดท่าเรือกรุงเทพให้เชื่อมโยงกับท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด เพื่อดึงเขตเศรษฐกิจทั้งหมดกลับเข้ามาที่เมืองไทย ขณะเดียวกันเมื่อดึงเข้ามาแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้มีการปล่อยมลพิษ มลภาวะ
เช่นเดียวกับท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นท่าเรือน้ำลึกทางทะเลโดยนับตั้งแต่ก่อสร้างจนถึงปีนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว 33 ปีเต็มเข้าสู่ปีที่ 34 มีความลึกประมาณ 14-16 เมตร จุดเด่นสำคัญที่ทำให้สามารถรับเรือขนาดใหญ่ได้สามารถขนส่งสินค้าได้มากถึง 23,000 ตู้ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของท่าเรือแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางของประเทศ
จุดแข็งของการขนส่งทางเรือนั้น หัวใจคือการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และจำนวนมากได้ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง หรือ ด้านโลจิสติกส์โดยรวมต่ำลง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเมื่อเทียบกับ จีดีพี ที่ยิ่งต่ำ ยิ่งน่าสนใจ
ยุทธศาสตร์การท่าเรือมุ่งสู่ Green Port – ท่าเรือสีเขียวของโลก
ปัจจุบัน กทท. มีความก้าวหน้าในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิได้กว่า 2,076 ตัน CO2e เมื่อเทียบกับกรณีปกติ (Business As Usual: BAU) อย่างไรก็ตาม กทท. มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการใช้ พลังงานสะอาด เพื่อก้าวเป็นท่าเรือสีเขียวที่อนุรักษ์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ กทท.
กทท. ได้มีการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ควบคู่กับสร้างพื้นที่สีเขียว อาทิ โครงการพลังงานทดแทน การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงพักสินค้าภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ โครงการลดการใช้น้ำมัน การเปลี่ยนรถยกตู้สินค้าหนักเป็นมาตรฐาน Euro5 และลดการใช้น้ำมันในเรือลากจูง อีกทั้งยังจัดกิจกรรมการปลูกต้นไม้รอบท่าเรือทั่วทุกภูมิภาค พร้อมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและครบวงจร เพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองท่าที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในทุกมิติ
หัวใจยุทธศาสตร์ "2D" ขับเคลื่อนแผนพัฒนาท่าเรือสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำของโลก รับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต
D ตัวแรก คือ Digitalization และ สองคือ Decarbonzation ที่ต้องขับเคลื่อนควบคู่กัน ทั้งการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อลดของเสีย
- การลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทำงานร่วมกันกับภาคธุรกิจที่จะมีการส่งเสริมตั้งแต่ท่าเทียบเรือ การบริการจัดการท่าเรือทั้งระบบ การบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางในเรื่องของทราฟฟิกที่ไม่ใช่แค่ที่ท่าเรือแต่จะครอบคลุมตั้งแต่โรงงานมาจนถึงเขตท่าเรือที่ได้เร่งรัดดำเนินการ
- บริหารท่าเรือสีเขียวมุ่งใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมถึงการลดของเสียที่ได้ร่วมกับการไฟฟ้าเปลี่ยนการบริหารจัดการของเสียให้เป็นของดีโดยเชื่อมโยงกับพลังงานสะอาด และได้นำร่องนำ EV มาใช้
- ระบบแจ้งเตือนให้ผู้ที่จะปล่อยของเสียแจ้งให้การท่าเรือทราบก่อนเพื่อที่จะบริหารจัดการไม่ให้ของเสียดังกล่าวเป็นภาระหรือมีผลกระทบ ซึ่งทำให้การท่าเรือสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 5,000 ตัน เชื่อมโยงกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกป่า
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องของบริการจัดการเรื่องรถติดภายในโดยดูเรื่องของการออกแบบตั้งแต่ต้นทางจนถึงท่าเรือเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวและลดการรอคอยที่เป็นปัญหาหลัก
Green Port ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
วางแผนให้เป็นท่าเรือสำหรับการเป็นท่าเรือสีเขียวอย่างสมบูรณ์ โดยผู้ที่ได้รับสัมปทานนั้นจะออกแบบให้ลดการปล่อยของเสีย รวมถึงการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาชุมชนโดยรอบไม่ได้ให้รับผลกระทบจากการมีท่าเรือโดยนำแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องเหล่านี้มาใช้เป็นแบบอย่าง
“การใช้ Digitalization คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ ประกอบกับ Decarbonzation การบริหารจัดการเรื่องของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะทำให้เกิดความยั่งยืนของประเทศได้"
นายเกรียงไกร ผอ.การท่าเรือ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ แนวทาง Green Port ดังกล่าว ยังสอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics Action Plans) สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิบัติ (Best Practice) ที่จะก้าวไปสู่ Green Logistics ซึ่งเป็นแนวทางในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในทุกรูปแบบ (Mode) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
การปรับปรุงการดำเนินงานของท่าเรือ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
ในปี พ.ศ. 2562 การขนส่งสินค้าทางเรือมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 11% ของทั้งหมดในอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ (ข้อมูลจาก Climate Watch ของ World Resource Institute)
หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของการท่าเรือฯ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ การสนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียนตามโมเดล BCG (Bio Circular Green Economy) ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ผ่านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาด โดยปรับปรุงการดำเนินงานของท่าเรืออย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
- โครงการพลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงพักสินค้า ภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ
- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED และการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศที่มีอายุมากกว่า 10 ปี
- โครงการลดการใช้น้ำมัน เช่น การเปลี่ยนรถยกตู้สินค้าหนักเป็นมาตรฐาน Euro5 และลดการใช้น้ำมันในเรือลากจูง
นอกจากนี้ การท่าเรือฯ ยังมีเป้าหมายในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบการจัดการของเสียจากเรือออนไลน์ ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การท่าเรือฯ บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็น Green Port และเป็นก้าวสำคัญในการรักษาความยั่งยืนของโลก