“ประเสริฐ” กางแผนสมาร์ท ซิตี้ เพิ่มเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย ลั่นประกาศปีหน้า
"ประเสริฐ จันทรรวงทอง"เผย สมาร์ท ซิตี้ คือแต้มต่อดึงดูดการลงทุน ชี้ AI หนุนการทำงานสมาร์ท ซิตี้ มีระบบและเพิ่มประสิทธิภาพ เตรียมประกาศสมาร์ท ซิตี้ เมืองท่องเที่ยวปลอดภัยปีหน้า แย้มเอกชน 2 แห่งเตรียมปักหมุดลงทุนไทยแสนล้าน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในงาน THAILAND SMART CITY 2025” ภายใต้หัวข้อ “Digital Government and Digital Economy for Smart City” จัดโดยสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ สปริงนิวส์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ว่า เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่นวัตกรรมและความรู้ ก็เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งเรื่อง ความแปรปรวนของภูมิอากาศ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำ และ ความผันผวนของเศรษฐกิจ
เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็น ทางรอด ไม่ใช่ ทางเลือก ในการแก้ไขจุดอ่อน และ เติมเต็มจุดแข็ง นโยบายของรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI ให้ประชาชนเรียนรู้ ภาครัฐ และ เอกชน สามารถนำเทคโนโลยีสร้างศักยภาพในการแข่งขัน โดยกระทรวงดีอีมี 3 เครื่องยนต์ ในการขับเคลื่อนประเทศได้แก่ การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยสมาร์ท ซิตี้ ก็อยู่ในแผนนี้ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ประเทศ และ การพัฒนากำลังคน
ปัจจุบันพบว่า บุคลากรภาครัฐมีทักษะด้านดิจิทัลไม่เกิน 1 % ขณะที่ประเทศฝั่งตะวันตก อเมริกา และ จีน มีสัดส่วนที่สูงกว่า ทำอย่างไรจะสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขัน AI + สมาร์ท ซิตี้ สามารถทำให้ประเทศไปสู่จุดนั้นได้ สมาร์ท ซิตี้ คือ การทำเมืองให้มีความสุข มีความสะดวกสบาย ลดค่าใช้จ่าย และ มีความปลอดภัยสูง และใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด
กระทรวงดีอี โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ที่สำคัญหลายโครงการเพื่อทำให้สมาร์ท ซิตี้ ประสบความสำเร็จ ได้แก่ โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลดิจิทัลที่รองรับการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในเมือง อย่างเป็นระบบ เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาเมือง โดยมีพื้นที่เป้าหมายในการเก็บข้อมูลดังกล่าว 175 พื้นที่ ในประเทศไทย
ในปี 68 เราจะมีการต่อยอดนำข้อมูลทีได้มาพัฒนาเมืองอัจฉริยะในเขตเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว โดยเน้นให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ โดยเน้นความปลอดภัย รัฐบาลวางแผนแล้ว กำลังจะประกาศเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า AI เป็นสิ่งที่มีบทบาทมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน การนำAI มาจัดการระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และการวิเคราะห์และทำเมืองสีเขียว ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
ขณะที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA โดย ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Center หรือ AIGC) เดินหน้าพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นการต่อยอด AI Governance Guideline ของไทย สู่การออกประกาศ Guideline ใหม่ “แนวทางประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับเป้าหมาย โดยเนื้อหา ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจ Gen AI, ประโยชน์และข้อจำกัด, ความเสี่ยง, และแนวทาง การประยุกต์ใช้อย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ภาครัฐ เอกชน ยึดกรอบการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม
AI ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้การทำงานสมาร์ทซิตี้ เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และเป็นสมาร์ท เนชั่น อย่างยั่งยืน
นายประเสริฐ กล่าวว่า สมาร์ท ซิตี้ ไม่ใช่เรื่องยาก สมาร์ท ซิตี้ คือการบริหารข้อมูล โดยใช้ AI เข้ามาช่วยบริหารจัดการได้ เช่น การบริหารไฟจราจร เหล่านี้ ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูง บ้านก็เริ่มเป็นสมาร์ทโฮม รัฐบาลและกระทรวงดีอี ได้ขับเคลื่อนเรื่องสมาร์ท ซิตี้ กับ รัฐ และ เอกชนอย่างต่อเนื่อง สมาร์ท ซิตี้ จึงเป็นแต้มต่อในการดึงดูดนักลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ก็มีการออกมาตรการทางภาษีหลายด้านในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในสมาร์ท ซิตี้ ขณะที่กระทรวงดีอี โดยดีป้าเอง ก็มีบริการที่เรียกว่า บัญชีบริการดิจิทัล ในการนำโซลูชันที่เกี่ยวกับสมาร์ท ซิตี้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT โซลูชั่น ต่างๆ ในราคาคุ้มค่า และได้มาตรฐาน D-sure มาให้นักลงทุนเลือกใช้ และได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วย
ประเทศไทยวันนี้ เราเป็นที่หนึ่ง ทุกด้าน ทั้งเรื่อง ที่หนึ่งเรื่องฮับด้านการเงิน ด้านดิจิทัล บลอกเชน ในช่วงปลายปี 2567 ประเทศไทยมีเทค คอมพานี เข้ามาลงทุนหลายราย และคาดว่าไตรมาส1 และ ไตรมาส 2 ปี 2568 จะมีนักลงทุนอีก 2 รายเข้ามาลงทุนในประเทศมูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท และเชื่อว่าสมาร์ท ซิตี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่เดินคู่กัน และทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเอื้อต่อการลงทุน ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และเป็นสมาร์ท เนชั่น อย่างยั่งยืน