ไทย สไมล์ บัส ชี้ ขนส่งมวลชนเป็นรากฐานเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
ไทย สไมล์ บัส แจง สิ่งสำคัญของ Smart city ไม่ใช่เพียงเชื้อเพลิงแต่เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ช่วยให้พลังงานสะอาดไม่ได้ประโยชน์แค่กับสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB ) แสดงความคิดเห็นในงานสัมมนา “THAILAND SMART CITY 2025” ภายใต้หัวข้อ “SMART ENERGY เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน“ ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ สปริงนิวส์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ว่า พลังงานสะอาดไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นสู่อนาคตที่ยั่งยืน
ปัญหาของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ มีปัญหาเร่งด่วนในสามด้านคือ การจราจร มลภาวะ และการจัดการ จากเดิมระบบขนส่งมวลชนเป็นต้นตอการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 30% ของประเทศ ปัญหาเหล่านี้จะลดลงเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านมาสู่การใช้พลังงานสะอาดเต็มรูปแบบ
แต่การจัดการก็มีความสำคัญไม่แพ้กันเพราะนั่นหมายถึงประสิทธิภาพการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้ใช้บริการและช่วยจูงใจให้คนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ช่วยลดปัญหาในด้านการจราจรรวมถึงอัตราการปล่อยคาร์บอนได้อีกทาง
แน่นอนเมื่อพูดถึง Smart city ย่อมหมายถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยี สำหรับ ไทย สไมล์ บัส ได้มีการเก็บข้อมูลการเดินทางทั้งเส้นทาง ระยะทาง และระยะเวลาเดินทางมาปรับปรุงการให้บริการ ช่วยให้ทางบริษัทจัดการเดินรถที่ประหยัดพลังงานและรองรับการใช้งานมากขึ้น เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้บริการ ยกระดับความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร จูงใจให้คนมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามีจุดเด่นคือต้นทุนด้านพลังงาน ถือเป็นการจูงใจผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ แต่คอขวดสำคัญในการเปลี่ยนผ่านนี้คือ มูลค่าของแบตเตอรี่ ดังนั้นหากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน ภาครัฐเองก็ควรมีการสนับสนุนทางนโยบายต่อไป
ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนอย่างยั่งยืนไม่สามารถทำได้ตามลำพัง จำเป็นต้องมีความร่วมมือและบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนไปพร้อมกัน เช่น การสนับสนุนด้านภาษี ในส่วนการพัฒนา Smart city สิ่งที่จำเป็นคือความร่วมมือและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของภาคเอกชน เพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น ไฟจราจร ทางกั้นรถ หรือป้ายอัจฉริยะต่างๆ
การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนอย่างยั่งยืนที่ดี จะช่วยให้ประชาชนเลือกเดินทางผ่านระบบขนส่งมวลชนก่อนใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยจูงใจด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้งาน สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยยกระดับด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำให้เกิดสังคมและเศรษฐกิจยั่งยืนขึ้นต่อไป