NIA จัดเวทีถกนวัตกรรม EV ดันไทยสู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดงาน Innovation Thailand Public Forum รวมผู้เชี่ยวชาญถกแนวทางพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งยกระดับอุตสาหกรรม EV ไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมระดับภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ
งานครั้งนี้ มีผู้บริหารจากหน่วยงานชั้นนำ ในเครือข่ายระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Innovation Ecosystem) ของประเทศไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน และสามารถรับชมการถ่ายทอดสด (Live Streaming) และชมย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ของ NIA ได้อีกด้วย
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเวทีให้สังคมไทยในวงกว้างเกิดความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Innovation) และระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงแนวโน้มการลงทุนของอุตสาหกรรมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย “เราต้องสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมให้ได้”
นอกจากนั้นก็ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นส่วนสำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในฐานะ ‘ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม’ (Focal Conductor) ไม่เพียงแต่เชื่อมการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศหรือภาครัฐกับภาคเอกชน แต่ยังมุ่งส่งเสริมและสนับสนุน ‘ธุรกิจนวัตกรรมสีเขียว’ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคาร์บอนต่ำ, กลุ่มพลังงานสะอาด และกลุ่มซัพพลายเชนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ EV โดยได้กล่าวต่อว่า “ทุกวันนี้ ESG ถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าอุตสาหกรรมไหนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถือว่าตกเทรนด์” โดยเป็นการฉายภาพให้เห็นการให้ความสำคัญจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่ให้ต่อคลื่นลูกใหม่อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแรงขับเคลื่อนให้เกิดงานนี้ขึ้นมา
การบรรยายในหัวข้อแรก ‘กลไลการสนับสนุน การสร้างธุรกิจนวัตกรรม’ โดยมี ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาเป็นผู้บรรยายพิเศษ ที่ว่าด้วยแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้แนวคิด 4Gs ที่ประกอบไปด้วย Groom-Grant-Growth-Global ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการสรรค์สร้างนวัตกรรม และเข้ามาสนับสนุนนวัตกรรมทั้งในมิติของเศรษฐกิจ (Economy Innovation) และสังคม (Social Innovation) ผ่านเงินทุนในการสนับสนุนสองประเภท โดย ดร.สุรอรรถ ก็ได้นำเสนอแนวทางและวิธีการในการสนับสนุนว่าทั้งผู้ประกอบการและผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมจะมาพบกับผู้สนับสนุนอย่างไรได้บ้าง โดยเงินทุนแต่ละประเภทก็จะครอบคลุมในแต่ละช่วงการพัฒนา เพื่อลดทอนการแบกรับความเสี่ยง และขับเคลื่อนให้นวัตกรรมเกิดขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม
ดร.สุรอรรถ ก็ได้นำเสนอต่อว่าการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะมุ่งเน้นไปยัง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ประกอบไปด้วย กลุ่มเกษตรอาหาร และสมุนไพรมูลค่าสูง, กลุ่มสุขภาพและการแพทย์, กลุ่มการท่องเที่ยว, กลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ และ กลุ่มพลังงาน สิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้า โดยอย่างหลังสุดก็ครอบคลุมไปถึงธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งก็คือหัวข้อสำคัญของงานในวันนี้
ในการเสวนาช่วงแรกจะเริ่มต้นขึ้นที่หัวข้อ ‘EV-Innovation Ecosystem in Thailand : Opportunities and Challenges’ ที่จะเจาะลึกถึงโอกาสและความท้าทายในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย จากมุมมองของวิทยากรผู้ที่อยู่ในแถวหน้าของอุตสาหกรรม ตั้งแต่ ตรีพล บุณยะมาน รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์, ปรเมษฐ์ สงวนโชควณิชย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและความยั่งยืน บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) และ ปรีชา ประเสริฐถาวร ประธานกรรมการ บริษัท ไอ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
จุดแข็งของประเทศไทยจากวิทยากรทั้งสามท่าน ที่มีตั้งแต่ ความพร้อมในแง่ฐานรากและโครงสร้างพื้นฐานเดิมของประเทศไทยที่กลายเป็นแต้มต่อที่จะช่วยประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า จากมุมมองของ ตรีพล บุณยะมาน, จุดแข็งในการผลิตชิ้นส่วนถือเป็นจุดแข็งที่ ปรีชา ประเสริฐถาวร มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในแง่ของการแข่งขัน แต่ในวันที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของผู้ผลิต ความท้าทายใหม่อาจเกิดขึ้น และสถานีชาร์จถือเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จากมุมมองของ ปรเมษฐ์ รวมไปถึงพฤติกรรมการหากิจกรรมทำระหว่างรอชาร์จของคนไทยที่อาจควบคู่มาพร้อมกับสถานีชาร์จไฟฟ้าจะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาธุรกิจประเภทอื่น ๆ ควบคู่ไปพร้อมกัน
ตรีพล บุณยะมาน ได้ฉายภาพจากมุมมองผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในแง่ของการปรับตัวในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปและสร้างความแตกต่างจากประเทศคู่แข่งว่า การปรับตัวได้ไวและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงจะเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการหน้าใหม่ นอกจากนั้น แม้จะมีนโยบายมาช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม แต่การจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าก็ต้องอาศัยการปรับตัวจากภาคเอกชนไม่น้อย ทั้งในด้านของเทคโนโลยี องค์ความรู้ โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากร
ในฐานะผู้ให้บริการด้านพลังงาน คุณปรเมษฐ์ สงวนโชควณิชย์ ได้กล่าวว่าโจทย์สำคัญในปัจจุบัน คือจะทำอย่างไรให้สถานีชาร์จสามารถบริการได้เร็วเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงสิทธิพิเศษ (Priviledge) และความน่าเชื่อถือที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของบริการ และนำไปสู่การต่อยอดและการร่วมมือกันกับบริการต่าง ๆ เพื่อยกระดับการใช้งานให้แข็งแรงขึ้นมากกว่าเดิมในทุกมิติ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพคือต้องมองลึกไปถึงอุปสงค์ที่เกิดขึ้นและตอบสนองความต้องการเหล่านั้นอย่างตรงจุด จะนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างสัมฤทธิ์ผล
จากมุมมองของทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการ ปรีชา ประเสริฐถาวร ในฐานะผู้มีประสบการณ์ได้นำเสนอแนวทางว่าประเทศจีนถือเป็นผู้ประกอบการที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และถ้าอยากจะผลิตชิ้นส่วนส่งออกให้ประเทศจีน ผู้ประกอบการก็ต้องคำนึงถึงประเภทชิ้นส่วนที่เราจะส่งไปควบคู่กัน ว่าสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศได้หรือไม่ เพราะในปัจจุบันนี้ กระบวนการผลิตจากประเทศจีนมีความสามารถในการแข่งขันสูง ด้วยเหตุนั้น ผู้ประกอบการในไทยยังมีความท้าทายเฝ้ารออยู่ข้างหน้าไม่น้อย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการในไทยสามารถแข่งขันได้คือการหาช่องว่างทางตลาดที่ทำให้ผู้ผลิตไทยสามารถสอดแทรกตัวเองเข้าไปได้ แต่ท้ายที่สุดการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้า
‘EV-Innovation Investment in Thailand’ คือหัวข้อในการเสวนาลำดับถัดมา ที่ฉายภาพแนวโน้มการลงทุนของอุตสาหกรรมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จากมุมมองของวิทยากรผู้ที่คลุกคลีอยู่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย ทั้งจากทางด้านเอกชนและรัฐบาล รวมไปถึงนักวิชาการผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแง่ของการลงทุน โดยวิทยากรในการเสวนาหัวข้อนี้ประกอบไปด้วย สยามณัฐ พนัสสรณ์ อุปนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรมและการพัฒนาธุรกิจ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, ยอดกมล สุธีรพจน์ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (BOI) และ ดร.อรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด
ดร.อรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ ในฐานะตัวแทนจากผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็ได้กล่าวถึงจุดแข็งและความน่าดึงดูดในการลงทุนที่ประเทศไทยว่าเป็นไปตามกลยุทธ์ของ ‘Vast Ocean Plan’ ที่มุ่งหวังขยายธุรกิจไปนอกประเทศ โดยที่ประเทศไทยมีความน่าสนใจในหลายมิติ ตั้งแต่ในเชิงนโยบายที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การนำเข้าและส่งออกที่เติมเต็มสิ่งที่ประเทศจีนไม่มี ขนาดของตลาด องค์ประกอบของอุตสาหกรรม และความคุ้มค่าในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้กับประเทศจีน และการเข้ามาตั้งฐานการผลิตของฉางอานก็ถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเรียนรู้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตไปต่อยอดในอนาคต
ในมิติของการลงทุน ยอดกมล สุธีรพจน์ ก็ได้นำเสนอถึงเงื่อนไขจาก BOI ในการสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านแนวทางต่าง ๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางความท้าทาย นอกจากนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการในไทยสามารถทำได้ คือการรักษาความสามารถของตนเองในการจะยืนอยู่ได้ในตลาด ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ชิ้นส่วนไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะผู้ประกอบการในประเทศไทยเองก็มีหลายประเภทชิ้นส่วนที่เราทำได้ดีมาตลอด เพราะฉะนั้นการรักษามาตรฐานเดิมหรือแม้แต่ยกระดับเพื่อแข่งขันก็ถือเป็นเสาหลักสำคัญท่ามกลางความท้าทาย
สยามณัฐ พนัสสรณ์ ได้ฉายภาพถึงความเปลี่ยนแปลงจากจำนวนรถ BEV และ HEV ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่รถสันดาบสมบูรณ์จะมีจำนวนลดน้อยถอยลง ซึ่งจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมที่จะทำให้บุคลากรในห่วงโซ่อุปทานต้องปรับตัวและพัฒนาตาม แต่ในการที่จะต่อสู้ในอุตสาหกรรมได้ การเตรียมตัวและถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนาบุคลากร เพื่อการเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในการรับแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Innovation Thailand Public Forum : “EV-Innovation towards Innovation Nation” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการนวัตกรรมประเทศไทย ประจำปี 2567 หรือ Innovation Thailand 2024 โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นภารกิจในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในทุกภาคส่วนของประเทศ รวมถึงเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในนวัตกรรมของประเทศไทยทั้งระดับในประเทศและระดับสากล และความร่วมมือกับหน่วยงานจากทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นการหารือและระดมสมองเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง