
ฟังจากเกษตรกรผู้รู้จริง ขายคาร์บอนให้ได้ราคาดีทำอย่างไร?
การซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ของการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ล้วนให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน โพสต์ทูเดย์ จึงนัดสัมภาษณ์พิเศษ นายปรีชา หงอกสิมมา รองประธานกลุ่มธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ จ.ขอนแก่น เกษตรกรที่สามารถขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้ไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตได้สำเร็จ กว่า 401 ตันคาร์บอนเครดิต ในราคาตันละ 3,000 บาท มูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านบาท
นายปรีชา หงอกสิมมา
เดิมที นายปรีชา หงอกสิมมา ได้รวมกลุ่มกับเกษตรกรในชุมชนเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. ที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกป่าชุมชนตามแนวทางการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือการปลูกป่าบนแนวคิดการผสมผสานการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ประกอบด้วยป่า 3 อย่าง ได้แก่
- ป่าไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว ส าหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา ไม้ไผ่
- ป่าไม้กินได้ คือ ไม้ผล เช่น มะม่วง และผักกินใบต่างๆ
- ป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขาย หรือไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก
ส่วนประโยชน์ 4 อย่างได้แก่
- ป่าไม้ใช้สอย สามารถนำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ หรือหัตถกรรมต่างๆ แม้กระทั่งนำมาเป็นฟืนในการหุงต้มอาหาร
- ป่าไม้กินได้ สามารถนำมาเป็นอาหารได้ทั้งใบ ผล หัว และเป็นยาสมุนไพร
- ป่าไม้เศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน สามารถนำมาจำหน่ายได้
- ประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ จะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศในสวน
หลังจากนั้นได้จัดตั้งเป็นธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ จ.ขอนแก่น เพื่อสร้างความสมบูรณ์ในระบบนิเวศของชุมชน และเปลี่ยนต้นไม้ในชุมชนให้กลายเป็นสินทรัพย์สำหรับใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับทาง ธ.ก.ส.
ส่วนหนึ่งของพื้นที่ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ จ.ขอนแก่น
นายปรีชา เล่าว่า แต่เดิมพื้นที่หมู่บ้านมักจะมีปัญหากับชุมชนโดยรอบเนื่องจากที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินเปล่า ทำให้มีปัญหาการขาดแคลนฟืน เมื่อถึงฤดูแล้ง จึงจำเป็นต้องไปเก็บฟืนจากป่า เก็บเห็ดและไข่มดแดงในหมู่บ้านข้างเคียง จึงทำให้เป็นปัญหาระหว่างชุมชนอื่นโดยรอบ
"ธ.ก.ส. ได้เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านเริ่มปลูกต้นไม้ในพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง ผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ พอต้นไม้เยอะขึ้น ฟืนก็หาง่าย เก็บเห็ดได้บนที่ดินตนเอง ไข่มดแดงก็ไม่ต้องไปแหย่ในที่ดินคนอื่น แล้วก็มีผักหวานไว้เก็บกินได้ด้วย กลายเป็นว่า มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น” นายปรีชา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกป่าที่ชุมชนบ้านท่าลี่
นอกจากประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจแล้วยังพบว่า ชาวบ้านได้ความร่มเย็นจากป่าไม้ รวมไปถึงการมีแนวรับพายุจากต้นไม้ เพื่อป้องกันผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ซึ่งแต่ก่อนหากเกิดพายุรุนแรง ชุมชนจะได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
"เวลาพูดถึงป่า คนอาจจะโฟกัสที่ผืนป่าซึ่งเป็นอุทยานต่าง ๆ
แต่จริง ๆ แล้วทุกคนสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าให้แก่ประเทศได้ด้วยตนเองโดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ชุมชน
อย่างของผมก็มีต้นไม้อยู่จำนวนกว่า 1,000 ต้น และรวมธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ทั้งหมดในโครงการของเรา มีจำนวนกว่า 10,000 ต้น และถ้าพูดถึงโครงการธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. ก็มีจำนวนต้นไม้รวมทั้งประเทศกว่า 12 ล้านต้น” นายปรีชาอธิบาย
ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ จ.ขอนแก่น
จากป่าชุมชนสู่การขายคาร์บอนเครดิต
เมื่อเทรนด์ ‘รักษ์โลก’ และ ‘ความยั่งยืน’ กำลังหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ธ.ก.ส. จึงได้จัดตั้งโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนธนาคารต้นไม้สามารถนำต้นไม้ที่เข้าเกณฑ์ที่องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ที่กำหนด มาตรวจวัดและรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต นำไปจำหน่ายคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้มาพัฒนาชุมชน ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ จ.ขอนแก่น จึงถูกรับเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องของโครงการ BAAC Carbon Credit
นายปรีชาเล่าถึงกระบวนการการขับเคลื่อนธนาคารต้นไม้จนไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตว่า สำหรับต้นไม้ที่จะเข้าร่วมโครงการมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ ต้นไม้ปลูกใหม่ และอีกแบบคือ ต้นไม้ที่มีอยู่เดิม ที่มีขนาดหรือเติบโตตามเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด
“เกษตรกรอาจจะมีวิธีการดูแลต้นไม้ที่แตกต่างกัน เนื่องจากสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมต่างกัน โดยหลังจากปลูกต้นไม้ รอเวลาเติบโตผ่านสภาพภูมิอากาศ ทั้งแล้งและฝน มาได้จนต้นไม้เติบโตได้เองโดยสมบูรณ์ ก็จะต้องมีการตัดแต่งและดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นไม้สามารถเติบโตได้ต่อไป โดยใช้เวลาราว 5 - 7 ปี”
หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ เกษตรกรอาจมีข้อสงสัยว่า ระหว่างที่นำต้นไม้เข้าร่วมโครงการจะสามารถตัดต้นไม้หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่
นายปรีชา ได้ไขขอข้องใจว่า ‘สามารถทำได้’ โดยต้นไม้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีอายุยืนต้นอยู่ตลอดโครงการ แต่สามารถตัดแต่งและนำไปใช้ได้ แต่ต้องไม่เกิน 15% ของโครงการ สำหรับไม้ส่วนที่ไม่ดีก็สามารถตัดมาใช้ประโยชน์ได้ และสามารถปลูกเสริมระหว่างต้นได้เช่นกัน”
กล้าไม้ที่รอเตรียมปลูก
จะได้เงินอย่างไร จากการขายคาร์บอนเครดิต
อีกคำถามที่เกษตรกรหลายคนสงสัยว่า จะได้เงินอย่างไร? นายปรีชาตอบคำถามนี้ว่า
“การขายคาร์บอนเครดิต คือ การขายความเชื่อ ที่เชื่อว่าต้นไม้ของเรามีคาร์บอนอยู่จริง ซึ่งกระบวนการสร้างความเชื่อ คือ มาตรฐานหรือกลไกคาร์บอนเครดิตที่มีการทวนสอบ ต้องมีการระบุตำแหน่งพิกัดแปลง พิกัดต้น ต้องมีการติดตามการเติบโต และดูว่าต้นไม้นั้นมีอยู่จริงหรือไม่ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หากมีอยู่จริงแล้ว ปริมาณคาร์บอนเครดิตจะถูกรับรองขึ้นมาและสามารถนำไปขาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป”
สำหรับราคารับซื้อคาร์บอนเครดิตมีหลายช่วงราคา แต่ชุมชนธนาคารต้นไม้ของบ้านท่าลี่ได้เข้าร่วมโครงการ BAAC Carbon Credit และขายให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งรับซื้อในราคาสูงถึงตันคาร์บอนเครดิตละ 3,000 บาท ซึ่งนอกจากราคารับซื้อจะสูงแล้ว เกษตรกรบ้านท่าลี่ยังมองว่า เป็นการประกันความเสี่ยงในการขายและรับซื้อคาร์บอนเครดิตอีกด้วย
"การร่วมโครงการของ ธ.ก.ส. ผมมองประโยชน์ไว้สองอย่าง หนึ่งคือลดความเสี่ยง การที่ ธ.ก.ส. เข้ามาดูแลและรับประกันว่า รับซื้อแน่นอน คือเราตัดปัญหาเรื่องการหาช่องทางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้เลย เพราะว่าถ้าเราทำสำเร็จตามเกณฑ์ที่กำหนด เราขายได้แน่นอน และสอง ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนในการออกค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินและการรับรองคาร์บอนเครดิตให้ก่อน ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระในด้านค่าใช้จ่ายโครงการให้กับเกษตรกร เพราะว่าการทำโครงการหนึ่งครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นหลักแสน
ถ้าไม่มีคนที่บอกว่าทำแล้วจะซื้อ จะมีความเสี่ยงสูงมาก และยากมากในการทำข้อมูลเสนอขึ้นโครงการกับทาง อบก.
การระบุพิกัดต้นในโครงการ BAAC Carbon Cridit
ตั้งธงอย่างไร ให้ขายคาร์บอนเครดิตสำเร็จ
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีใจอยากขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่ป่าของตนเอง นายปรีชาได้ให้แง่คิด ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อนว่า ควรมองว่า การขายคาร์บอนเครดิตเพื่อจะได้เงินนั้น เป็นแค่ผลพลอยได้จากการปลูกป่า
“วัตถุประสงค์หลัก ๆ ของการปลูกป่า คือการสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์ขึ้น และสร้างทรัพย์สินให้กับเรา ผลดีคือ ทำให้อากาศดีขึ้นและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเปรียบเสมือนเงินออม เป็นผลพลอยได้ระหว่างทาง ซึ่งหากเราตั้งความคิดแบบนี้ เราจะไม่รู้สึกผิดหวังกับเงินที่เราได้จากการขายคาร์บอนเครดิต เพราะราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดโลกมีความผันผวนสูง”
นายปรีชามองไปไกลถึงอิทธิพลและเทรนด์ของโลก รวมไปถึงประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการรับซื้อคาร์บอนเครดิต
“ราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดโลกอาจจะแกว่งได้ แต่สิ่งที่จะไม่แกว่งคือ มูลค่าที่เกิดจากการสะสมเนื้อไม้ และผลดีที่ได้จากการสร้างป่า เราจะมีระบบนิเวศ มีแหล่งอาหารที่หลากหลาย ความร่มรื่นและอากาศที่ดีกับเรา เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการฯ มองว่า
เราตั้งใจปลูกป่าแต่การขายคาร์บอนเครดิตเป็นเพียงผลพลอยได้ ก็จะสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้อย่างสบายใจ
และที่สำคัญ การขายคาร์บอนเครดิตเป็นเหมือนการสร้างแรงจูงใจ ให้คนที่มีพื้นที่ป่าอยู่แล้วหันมาเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยครับ”
ท้ายสุด นายปรีชาและเกษตรกรในชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ จ.ขอนแก่น ได้ทำให้เราเห็นกันแล้วว่า การสร้างพื้นที่สีเขียวสามารถสร้างได้ตั้งแต่หนึ่งตารางเมตร และทุกคนสามารถช่วยกันทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้ พร้อม ๆ กับการร่วมเปลี่ยนอากาศให้เป็นเงินกับ BAAC Carbon Credit จาก ธ.ก.ส.