กฟผ. ชี้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาบุคลากร ต่อยอดความมั่นคงด้านพลังงาน
รังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชี้ กฟผ.ดันใช้เทคโนโลยีพัฒนาบุคลากร พลิกโฉมรัฐวิสาหกิจแบบเดิมๆ ต่อยอดรากฐานให้กับธุรกิจอื่นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน
Post Today และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมนา Post Today Thailand Economic Drive 2024 ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567 ณ โรงแรม แกรนด์ อีสติน พญาไท วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 12.00-16.00 น.
ใน Session: New Business กับการขับเคลื่อนธุรกิจ เมื่อถามว่ามุมมองที่มีต่อ New Business คืออะไร คุณรังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในมุมมองของเอกชน New Business อาจหมายถึงสิ่งใหม่ๆที่ช่วยสร้าง Growth ให้กับธุรกิจ แต่ในมุมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งเราเป็นหน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน แต่เดิมเราก็ผลิตไฟขายไฟ แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะพยายามหาอะไรใหม่ๆก็ตาม เรายังจะต้องเป็นฐานสำหรับการเติบโตให้กับประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคง เป็นฐานให้กับธุรกิจอื่นๆในการต่อยอดความมั่นคงด้านพลังงานที่มีอยู่
สำหรับธุรกิจใหม่ เราได้อาศัยความรู้ทางเทคโนโลยี และความร่วมมือจากพันธมิตร เพื่อสร้างบุคลากรให้มี Mindset ใหม่ๆ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแบบดั้งเดิม
เมื่อถามถึงอุตสาหกรรมในบ้านเราซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ปิโตรเคมี อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นอุตสาหกรรมเก่า แล้วการปรับตัวของธุรกิจสามารถทำได้อย่างไรบ้าง
คุณรังสินี ระบุว่า ในส่วนของกฟผ. เรายังมุ่งมั่นในการเป็นรากฐานด้านพลังงาน ซึ่งกฟผ.ไม่ได้มีแค่หน่วยงานเดียว ซึ่งแต่ละหน่วยงานย่อยทำหน้าที่ที่หลากหลายตั้งแต่ Power Generation, LNG, Green Fuel, Renewable Energy, Transmission & Smart Grid, EV ซึ่งในเรื่อง EV Energy เป็นส่วนหนึ่งที่กฟผ.เริ่มดำเนินการมาหลายปี ตั้งแต่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีความกังวลเรื่องสถานีชาร์จ ขณะที่ภาคธุรกิจก็ยังไม่มั่นใจมากนักที่จะลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จ ซึ่งกฟผ.เปรียบเสมือนฟันเฟืองส่วนหนึ่งในยุคแรกๆที่กล้าลงทุนและช่วยขับเคลื่อนให้การใช้รถไฟฟ้ามีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น
เป้าหมายทางธุรกิจ (Roadmap) ของกฟผ.คือการเป็น Regional Green Energy ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเรามีโปรเจคโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังน้ำกับตัวโซลาร์บนผืนน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสีเขียวและมีผู้ให้ความสนใจร่วมลงทุนมากมาย
นอกจากนี้ในปี 2050 กฟผ.ยังตั้งเป้าในการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้วยแผน Triple S ได้แก่
- Sources Transformation : เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต
- Sink Co-Creation : เพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน
- Support Measures Mechanism : สนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คำปรึกษาด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ