posttoday

แพลตฟอร์ม ‘ผูกพันธุ์‘ เชื่อมโยงข้อมูลตรวจ ‘ยีนแพ้ยา’ ลดอัตราเสียชีวิต 90%

21 กุมภาพันธ์ 2567

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล “ผูกพันธุ์” เชื่อมโยงข้อมูลจากการตรวจ ‘ยีนแพ้ยา’ เผยสามารถลดอัตราการตายจากการแพ้ยาได้ถึงร้อยละ 90!

KEY

POINTS

  • กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัล 'ผูกพันธุ์' เชื่อมโยงข้อมูลพันธุกรรมจากการตรวจยีนแพ้ยา
  • แพลตฟอร์ม 'ผูกพันธุ์' ให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลยีนต่อการให้ยา และลดการตรวจซ้ำซ้อน
  • การตรวจยีนแพ้ยาสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากผู้ป่วยที่แพ้ยารุนแรงได้ถึงร้อยละ 90 และสามารถคาดการณ์การแพ้ยาได้

รู้จักแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘ผูกพันธ์ุ’ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมมือกันสร้างขึ้น เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางพันธุกรรมจากการตรวจยีนแพ้ยา

 

แพลตฟอร์ม ‘ผูกพันธุ์‘ เชื่อมโยงข้อมูลตรวจ ‘ยีนแพ้ยา’ ลดอัตราเสียชีวิต 90%

 

‘ผูกพันธ์ุ’ รายงานผลการตรวจพันธุกรรมการแพ้ยา และคาดการณ์การแพ้ยาได้

 

ผูกพันธุ์คือแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลพันธุกรรมสู่การรักษาที่แม่นยำ โดยความร่วมมือกันระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับมหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการเข้าถึงผลการตรวจได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงผลการตรวจได้ด้วยตนเอง โดยเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันของสมาร์ทโฟน ทั้งระบบไอโอเอส  (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) เพียงลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนออนไลน์ ThaiD ก็สามารถเข้าถึงผลการตรวจของตนเองได้

โดยในแพลตฟอร์มจะเป็นการรายงานผลการตรวจพันธุกรรมของผู้ป่วย และประเมินโอกาสที่จะเกิดการแพ้ยารุนแรงของผู้ป่วยว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด ซึ่งการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์จะทำให้แพทย์ผู้รักษาสามารถเลือกใช้ยาหรือปรับขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการแพ้ยา โดยผลการตรวจเภสัชพันธุศาสตร์เพียงครั้งเดียวจะสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์ เภสัชกร และผู้ป่วยสามารถดูผลการตรวจพันธุกรรมของตนเองที่ตรวจจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้

 

สำหรับผู้ใช้งานที่สามารถเข้าดูข้อมูลจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.ประชาชน ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ของตนเอง

2.แพทย์และเภสัชกร สามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจจากการค้นหาข้อมูลด้วยเลขบัตรประชาชนหรือชื่อและนามสกุล และต้องส่งคำขอเข้าถึงข้อมูลไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของก่อนถึงจะดูข้อมูลได้

3.เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเป็นผู้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการลงในระบบผูกพันธุ์

 

ทั้งนี้ข้อมูลที่อยู่ในผู้พันธุ์จะมาจากการตรวจ ‘ยีนแพ้ยา’

 

แพลตฟอร์ม ‘ผูกพันธุ์‘ เชื่อมโยงข้อมูลตรวจ ‘ยีนแพ้ยา’ ลดอัตราเสียชีวิต 90%

 

‘การตรวจยีนแพ้ยา’ คืออะไร

 

จากสถิติอัตราการพบยีนแพ้ยาในคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 15 หรือประมาณ 9.7 ล้านคน และพบในผู้ป่วย 42,000 – 100,000 คน ซึ่งการตรวจยีนก่อนให้ยาจะลดการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง การแพ้ยา ลดอัตราตายได้มากกว่าร้อยละ 90 และช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากอาการแพ้ยารุนแรงของประเทศ ได้มากกว่า 250 ล้านบาทต่อปี

 

ในปี 2566 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดให้บริการแก่ประชาชน ได้แก่ ผลการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อป้องกันการแพ้ยารุนแรง ใน 4 การทดสอบ คือ

1.การตรวจยีน HLA-B*58:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาลดกรดยูริค อัลโลพูรินอล (Allopurinol) หรือยารักษาโรคเกาต์

2.การตรวจยีน HLA-B*15:02 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากันชักคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) 3.การตรวจยีน HLA-B*57:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี อะบาคาเวียร์ (Abacavir)

4.การตรวจยีนย่อยยา NAT2 ในผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid)

 

สำหรับปัจจุบันการตรวจยีนแพ้ยาได้บรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยเป็นผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ตามความเห็นของแพทย์สามารถส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนกลาง คือ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และส่วนภูมิภาค  ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีทั้งหมด 14 แห่งทั่วประเทศ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา และตรัง นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการ ของโรงเรียนแพทย์ที่สามารถตรวจยีนแพ้ยาได้เช่นกัน