posttoday

อาหารแห่งอนาคต ข้าวเนื้อที่มีรสชาติและโปรตีนไม่แพ้เนื้อวัว

28 กุมภาพันธ์ 2567

ความพยายามในการหาแหล่งโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาแนวคิดเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จจากข้อจำกัดหลายด้าน แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้น ข้าวเนื้อ ข้าวที่มีรสชาติและโปรตีนไม่แพ้เนื้อวัว

เมื่อพูดถึงสารอาหารประเภทโปรตีนอาหารประเภทแรกที่ทุกคนพากันนึกถึงย่อมเป็นเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อวัวที่อุดมไปด้วยสารอาหารและรสชาติอันยอดเยี่ยม จนกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในเมนูโปรดของใครหลายคน หนึ่งในอาหารที่เรารับประทานกันทั่วไป

 

          แต่ปัจจุบันอาหารประเภทเนื้อวัวหรือเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่นำไปสู่การตั้งคำถามมากขึ้น ด้วยการทำฟาร์มปศุสัตว์ให้เรากินใช้ทรัพยากรและสร้างมลพิษเป็นจำนวนมากจนเริ่มนำไปสู่ข้อจำกัด สวนทางกับอัตราการขยายตัวประชากร ทำให้เกิดความอดอยากและปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

          นำไปสู่แนวคิดพัฒนาโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์หลายรูปแบบที่เราเห็นได้ในปัจจุบัน

 

อาหารแห่งอนาคต ข้าวเนื้อที่มีรสชาติและโปรตีนไม่แพ้เนื้อวัว

 

โปรตีนทดแทน ทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์

 

          จริงอยู่โปรตีนพบได้มากในเนื้อสัตว์ที่ถือเป็นหนึ่งในอาหารหลักของคนเรา แต่ก็มีอาหารหลายชนิดที่สามารถให้โปรตีนแก่ร่างกายได้เช่นกัน ตั้งแต่นม, ไข่, ปลา ไปจนพืชตระกูลถั่วและเมล็ดต่างๆ ล้วนเป็นอาหารทางเลือกที่ได้รับความนิยม และมีการรับประทานอย่างแพร่หลาย

 

          หนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับการพูดถึงคือ สารสกัดโปรตีนจากพืชตระกูลถั่ว ไปจนอาหารที่มีส่วนประกอบหลักเป็นถั่วหรือเต้าหู้ เพื่อให้ผู้ทานได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่โดยไม่ต้องทานเนื้อสัตว์ โดยใช้ทรัพยากรและมีอัตราการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

 

          ส่วนที่เริ่มได้รับความนิยมคือโปรตีนจากแมลง ปัจจุบันแมลงเริ่มถูกยอมรับในฐานะอาหารอีกชนิดที่ให้โปรตีนสูง เพาะเลี้ยงง่าย และใช้ทรัพยากรน้อย นำไปสู่การพัฒนาอาหารจากแมลงหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่แป้ง, โปรตีนแท่ง, ขนมคบเขี้ยว, เครื่องดื่ม ไปจนการกินตามปกติก็ถูกยอมรับมากขึ้น

 

          อีกหนึ่งแนวทางที่ถูกพูดถึงคือ เนื้อสังเคราะห์ โดยการปลูกเซลล์เนื้อขึ้นมาในห้องแลปแล้วจึงฉีดสารอาหารเพื่อเร่งการเจริญเติบโต วิธีนี้สามารถทำการผลิตเนื้อสัตว์ออกมาได้ตามต้องการเช่นกัน โดยมีอัตราการใช้ทรัพยากรและปล่อยมลพิษน้อยกว่าการทำฟาร์มมาก จึงถือเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจ

 

          อย่างไรก็ตามวิธีที่กล่าวถึงข้างต้นยังคงมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย อย่างโปรตีนจากพืชบางส่วนยังมีราคาสูงและรสชาติเทียบเนื้อสัตว์จริงไม่ได้, โปรตีนจากแมลงยังมีปัญหาจากภาพลักษณ์ของผู้บริโภค เช่นเดียวกับเนื้อสังเคราะห์ที่มีข้อจำกัดด้านต้นทุนการผลิต

 

          แต่จะเป็นอย่างไรหากมีการพัฒนาข้าวที่สามารถให้ทั้งโปรตีนและมีรสชาติแบบเดียวกับเนื้อวัว

 

อาหารแห่งอนาคต ข้าวเนื้อที่มีรสชาติและโปรตีนไม่แพ้เนื้อวัว

 

ข้าวเซลล์เนื้อ นวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Yonsei University ในเกาหลีใต้ กับการพัฒนาข้าวรูปแบบใหม่อาศัยแนวคิดในการนำเซลล์กล้ามเนื้อวัวลงมาเพาะลงบนเมล็ดข้าว กลายมาเป็น Beef rice ข้าวที่มีรสชาติ กลิ่น และคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าเนื้อวัวขึ้นมาสำเร็จ

 

          แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการต่อยอดการผลิตเนื้อสังเคราะห์ที่เริ่มได้รับความนิยม ข้อแตกต่างสำคัญคือครั้งนี้การพัฒนาไม่ต้องสร้างอ่างเพาะเนื้อเยื่อซึ่งมีต้นทุนสูง แต่อาศัยการปลูกลงบนสิ่งอื่นเพื่อให้ต้นทุนการผลิตน้อยลง สู่แนวคิดการนำเซลล์เนื้อวัวมาเพาะลงบนข้าวโดยอาศัยโครงสร้างเมล็ดข้าวที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อวัวยิ่งขึ้น

 

          ขั้นตอนนี้จะเริ่มต้นจากการนำข้าวมาเคลือบเจลาตินจากปลาช่วยให้เซลล์เนื้อเกาะติดพื้นผิวง่ายขึ้น จากนั้นจึงนำสเต็มเซลล์กล้ามเนื้อวัวและเซลล์ไขมันมาปลูกถ่ายลงบนรูพรุนตามโครงสร้างของเมล็ดข้าว แล้วนำไปอยู่ในกระบวนการเพาะราว 9 – 11 วัน ก็จะได้ออกมาเป็นข้าวเนื้อสีชมพูตามที่เห็น

 

          ข้าวเนื้อที่ได้รับการผลิตมีจุดเด่นในหลายด้าน เริ่มจากเนื้อสัมผัสที่แน่นขึ้นแต่เปราะลงเล็กน้อย ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังกินเนื้อผสมลงไปในข้าว กลิ่นหลังทำการหุงจะใกล้เคียงกับเนื้อวัว และส่วนสำคัญที่สุดคือข้าวเนื้อมีปริมาณสารอาหารสูงยิ่งกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป

 

          ปริมาณโปรตีนเฉลี่ยที่เราได้รับจากการรับประทานเนื้อวัว 100 กรัมอยู่ที่ 26 กรัม ในขณะที่ข้าวเนื้อ 100 กรัมจะให้โปรตีนสูงถึง 38.9 กรัม โดยมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและไขมันไม่แตกต่างจากเดิม อีกทั้งโดยพื้นฐานข้าวเป็นอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ยาก จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการแพ้ในหมู่ผู้บริโภค

 

          ข้อดีต่อมาคือต้นทุนทางการผลิตของข้าวเนื้อไม่สูงนัก ราคาขายของเนื้อวัวในประเทศไทยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 200 – 300 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ทางทีมวิจัยยืนยันว่าข้าวเนื้อสามารถมีราคาขายได้ราว 80 บาท/กิโลกรัม อีกทั้งข้าวเนื้อยังมีอัตราการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ถึง 7 เท่า ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมาก

 

          ข้าวเนื้อจึงถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์รอบด้านและอาจสามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคต

 

 

          ปัจจุบันข้าวเนื้ออยู่ในระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่นำมาเพาะเซลล์เนื้อวัว เพื่อให้สามารถปลูกถ่ายเซลล์เนื้อและให้สารอาหารได้มากขึ้น เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่น้อย ต้นทุนต่ำ และกรรมวิธีการผลิตเรียบง่าย ทางทีมวิจัยจึงคาดหวังว่านี่จะเป็นอาหารที่ถูกนำไปใช้บรรเทาความอดอยาก รับมือภัยพิบัติ หรือใช้สำหรับการเดินทางในอวกาศต่อไป

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/people-behavior/1122

 

          https://www.posttoday.com/environment/1178

 

          https://www.scimex.org/newsfeed/youve-heard-of-lab-grown-meat-are-you-ready-for-rice-grown-beef

 

          https://www.sciencealert.com/scientists-invent-new-hybrid-food-by-growing-beef-inside-grains-of-rice