posttoday

เห็นชอบ! งบซอฟต์พาวเวอร์ปี 67 กว่า 3,500 ล้านบาท นายกฯ ย้ำ ใช้อย่างรู้ค่า!

22 เมษายน 2567

นายกฯ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เคาะเห็นชอบงบปี 67 ดันซอฟต์พาวเวอร์ 3.5 พันล้าน ย้ำใช้ให้ถูกต้อง เกิดประโยชน์สูงสุดและรู้ค่า พร้อมเห็นชอบหลักการการจัดงานการประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์

วันนี้ (22 เมษายน 2567) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เข้าร่วมประชุม นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

 

  • นายกฯ มอบนโยบายการทำงาน 3 ข้อ 

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า นโยบายในแต่ละสาขา ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและคน ในช่วงของต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้น ต้องการฝึกฝนหรือเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต โดยได้มอบนโยบายในการทำงาน จำนวน 3 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 ขอให้ทำแผนการ “รับ Register” เพื่อคัด 1 ครอบครัว 1 soft power ให้เร็วที่สุด เพื่อเราจะได้แยกความรู้ความสามารถตามความชำนาญและสาขาอาชีพ และนำคนไปเข้าหลักสูตรฝึกอบรม ซึ่งควรจะมีทั้ง Online และ Onsite ตามความสามารถ รวมถึงต้องจัด Class และวิธีการคัดเลือกผู้เข้าเรียนให้ทั่วถึง และยุติธรรม

ข้อ 2 ขอให้เตรียม “เนื้อหา Content” ที่จะใช้ในการ Upskill/Reskill ให้ตรงกับความชำนาญ และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ First Impression ในการเรียนรู้สำคัญมาก เราไม่อยากเห็นประชาชนสมัครเข้ามาแล้วพบว่าไม่ได้มีเนื้อหาอะไรที่จะสอน เราไม่อยากเห็นภาพคนเข้าโครงการ แต่เนื้อหาไม่น่าสนใจ เกิดเป็น Bad Experience และทำให้คน Drop off ไปได้ และที่สำคัญ วิธีการเรียนการสอน ต้องเข้าใจง่าย มีมาตรฐานที่ดี

ข้อที่ 3 การจัด Event ต้องขอให้เป็นการ “ต่อยอด” จากที่ภาคอุตสาหกรรมทำอยู่แล้ว รัฐควรพิจารณาในการต่อยอด Event ที่ทำแล้วจะช่วยขยายผลได้มาก ต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น และต้องให้แน่ใจว่าการต่อยอดนั้นเป็นประโยชน์มากขึ้น มีความคุ้มค่าในการลงทุน ฉะนั้น ขอให้มีตัวชี้วัดชัดเจนว่า การมีรัฐลงทุน จะช่วยขยายผลได้อย่างไร

 

  • เห็นชอบการจัดประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ และ เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ 11 สาขาในปี 2567

นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพิ่มเติม และรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดย นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณคณะกรรมการฯ ทุกท่าน ที่ได้ดำเนินโครงการซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่าง ๆ เกิดผลดีต่อประเทศไทย ทำให้ต่างชาติรู้จักความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้ เห็นชอบในหลักการการจัดประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการจัดประชุมฯ โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางฯ ต่อไป รวมทั้งเห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายทั้ง 11 สาขา ปี 2567 พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายทั้ง 11 สาขา ปี 2567 โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางฯ ต่อไป

“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดของโครงการ ลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงาน พร้อมกับเน้นย้ำเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณต้องถูกต้องตามระเบียบราชการ ตรงตามวัตถุประสงค์ ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ได้รับเป็นสำคัญ โดยให้เรียงลำดับความสำคัญของโครงการในการพิจารณางบประมาณ ขอให้คณะกรรมการ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันขับเคลื่อน ผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุด หากติดขัดปัญหาตรงไหนขอให้รายงานมาให้ทราบ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาช่วยให้เกิดผลสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้” นายคารม ย้ำ

 

ทั้งนี้  กรอบวงเงินโครงการซอฟต์พาวเวอร์ ใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 54 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 5,164 ล้านบาท โดยจะใช้งบประมาณในปี 2567 ประมาณ 3,500 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นการใช้งบประมาณในปี 2568 ครอบคลุม 11 สาขาได้แก่

  1. อุตสาหกรรมเฟสติวัล 1,009 ล้านบาท
  2. สาขาท่องเที่ยว 711 ล้านบาท
  3. สาขาอาหารดำเนินโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย 1,000 ล้านบาท
  4. สาขาศิลปะมี 5 โครงการ 380 ล้านบาท 
  5. สาขาออกแบบ ทำโครงการ 310 ล้านบาท
  6. สาขากีฬา เน้นเรื่องมวยไทย 500 ล้านบาท
  7. สาขาดนตรี เน้นหลักสูตรพัฒนาเครื่องดนตรี 144 ล้านบาท
  8. สาขาหนังสือ เน้นส่งเสริมออกงานหนังสือนานาชาติ 69 ล้านบาท
  9. สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ย์ 545 ล้านบาท
  10. สาขาแฟชั่น 268 ล้านบาท
  11. สาขาเกม 374 ล้านบาท