แอปพลิเคชันใหม่ช่วยตรวจภาวะหัวใจล้มเหลวผ่านสมาร์ทโฟน
ภาวะหัวใจล้มเหลว ถือเป็นความผิดปกติต่อหัวใจที่อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนหลายชนิด เป็นโรคร้ายที่ต้องได้รับการดูแลรักษาทันท่วงทีแต่หลายครั้งที่กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็ไม่ทันการ นำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ที่สามารถตรวจภาวะหัวใจล้มเหลวผ่านสมาร์ทโฟน
ทุกท่านคงรู้จักปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคหัวใจไม่มากก็น้อย กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างรุนแรง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉลี่ยปีละกว่า 70,000 ราย ทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสังคมสูงอายุและปัญหามลพิษทางอากาศ
โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบขึ้นกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ภาพจำของคนส่วนมากอาจคิดถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จากอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงและแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาที
แต่วันนี้จะขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับอาการและอันตรายจากภาวะหัวใจล้มเหลวที่อันตรายไม่แพ้กันเสียหน่อย
ภาวะหัวใจล้มเหลว อีกหนึ่งภัยเงียบอันตรายถึงชีวิต
ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่ภาวะที่หัวใจหยุดการทำงานฉับพลัน แต่เป็นความผิดปกติในการทำงานของหัวใจจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดตามปกติ ทำให้อวัยวะและกล้ามเนื้อในร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
สาเหตุของภาวะหัวใจขาดเลือดเกิดได้หลายรูปแบบ ทั้งปัจจัยภายในจากความผิดปกติที่เกิดกับเยื่อหุ้มหัวใจ ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิต ไปจนปัจจัยภายนอกอย่างแอลกอฮอล์ สารเสพติด ยาบางชนิด สารพิษ การติดเชื้อ ไปจนการมีโรคหัวใจหรือโรคไตล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคทั้งสิ้น
ในส่วนของอาการผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลียจนทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้น้อยลง เหนื่อยง่ายแม้ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือขยับร่างกาย หายใจลำบากในขณะนอนราบ ตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่สะดวก เจ็บแน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนอาการบวมตามร่างกายและอวัยวะเพราะเลือดคั่งสะสม
ด้วยความเป็นไปได้ในการเกิดโรคหลากหลาย การรักษาโดยมากจึงต้องทำการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการไปพร้อมกัน ทำให้รูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ตายตัว ขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยเพื่อค้นหาแนวทางรักษาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจะเพิ่มขึ้นตามวัย จากความถดถอยของสภาพร่างกายและโรคประจำตัวที่เพิ่มขึ้น ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี แต่การสังเกตอาการเบื้องต้นอาจเป็นเรื่องทำได้ยากสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยอาการกลุ่มนี้ล้วนเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป
นี่จึงเป็นเหตุผลให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ที่ช่วยตรวจภาวะหัวใจล้มเหลวผ่านสมาร์ทโฟน
สู่แอปพลิเคชันตรวจหัวใจล้มเหลวผ่านสมาร์ทโฟน
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Turku แห่งฟินแลนด์ กับการคิดค้นระบบการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวรูปแบบใหม่ อาศัยการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการตรวจโรคเฉพาะ เพียงเปิดระบบการทำงานแล้วนำสมาร์ทโฟนไปวางทาบลงบนหน้าอก ก็สามารถตรวจภาวะหัวใจล้มเหลวได้ทันที
การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถทำได้หลายวิธี แต่ในปัจจุบันหากต้องการระบุรายละเอียดให้แน่ชัดจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือด เอ็กซ์เรย์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ไปจนอัลตราซาวนด์ แต่ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนมีความยุ่งยาก อาศัยความรู้ความชำนาญ และต้องพึ่งพาอุปกรณ์เฉพาะทางและต้องทำในโรงพยาบาล จึงมีการใช้งานไม่คล่องคัวโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทาง
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงพัฒนาแนวทางใหม่ในการตรวจภาวะหัวใจล้มเหลว โดยทำการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ใช้งานควบคู่กับสมาร์ทโฟน อาศัยกระบวนการ Gyrocardiography เพื่อตรวจวัดการสั่นสะเทือนจากการเต้นของหัวใจ โดยอาศัย เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว และ ไจโรสโคป ภายในสมาร์ทโฟน
ขั้นตอนการใช้งานเพียงโหลดแอปพลิเคชันลงสมาร์ทโฟนที่ตรงตามเงื่อนไข จากนั้นเปิดการทำงานแล้วนำไปวางทาบลงบนหน้าอกในช่วงเวลาหนึ่ง ระบบจะทำการตรวจวัดความเคลื่อนไหวเพื่อวิเคราะห์อัตราเต้นของหัวใจ แล้วนำมาวิเคราะห์ผ่านอัลกอริทึมเฉพาะเพื่อระบุว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่
ในส่วนความแม่นยำจากการทดสอบร่วมกับกลุ่มอาสาสมัคร 1,003 ราย พบว่า ระบบการตรวจวินิจฉัยนี้สามารถระบุและแยกแยะกลุ่มทดสอบระหว่างผู้ป่วยและผู้ไม่มีอาการออกจากกันได้ โดยมีระดับความแม่นยำในการจำแนกอยู่ที่ 89% ทั้งยังสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้โดยการเพิ่มขนาดฐานข้อมูลให้มากยิ่งขึ้น
จุดเด่นของแนวทางการตรวจรูปแบบนี้คือใช้งานง่าย เพียงนำสมาร์ทโฟนมาวางบนหน้าอกก็สามารถระบุอาการภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องพึ่งพาขั้นตอนยุ่งยากหรือเครื่องมือราคาแพง ช่วยเบาแรงและทำให้เจ้าหน้าที่การแพทย์ตรวจรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็ว
สำหรับตัวผู้ป่วยเองหากสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้ผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากลดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการตรวจแต่ละครั้งแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้อาการและต้นตอความเจ็บป่วยได้เร็ว จึงสามารถทำการรักษาดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่ในระยะแรก ป้องกันโรคแทรกซ้อนและผลกระทบทางสุขภาพอีกด้วย
จริงอยู่แอปพลิเคชันนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและทดสอบการใช้งาน ยังต้องได้รับการทดสอบเพิ่มเติมจึงสามารถผลักดันให้เป็นแนวทางหลัก แต่ในอนาคตหากแอปพลิเคชันนี้ประสบความสำเร็จ อาจเป็นทางเลือกใหม่ในการดูแลรักษาให้สามารถพักฟื้นจากที่พักอาศัย ติดตามอาการได้ง่าย และอาจเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาทางไกลต่อไป
ถือเป็นตัวเลือกที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวและโรคหัวใจอีกมาก
ที่มา
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=37372&deptcode=brc
https://thainakarin.co.th/article-from-doctor/heart-failure-tnh/
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/heart-failure
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/congestive-heart-failure