posttoday

เมื่อ AI อาจช่วยให้สมาร์ทวอชคาดการณ์ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

16 พฤษภาคม 2567

ที่ผ่านมาสมาร์ทวอชถือเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมในผู้รักสุขภาพ จากขีดความสามารถในการติดามและตรวจสอบข้อมูลทางสุขภาพของผู้สวมใส่แบบเรียลไทม์ ล่าสุดอาจพัฒนาไปอีกขั้นเมื่อมีการคิดค้น AI ที่ช่วยให้สมาร์ทวอชคาดการณ์ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้

สมาร์ทวอช ถือเปีนอีกหนึ่งอุปกรณ์อัจฉริยะชิ้นสำคัญของยุคใหม่ เปลี่ยนความเข้าใจของเราจากนาฬิกาข้อมือทั่วไปด้วยฟังก์ชันการใช้งานอันหลากหลาย ตั้งแต่ระบุตำแหน่งผู้ใช้งาน, โทรเข้า-รับสายโทรศัพท์, แจ้งเตือนข้อมูลแบบเรียลไทม์ ไปจนการเล่นเพลง อาศัยการเชื่อมต่อไร้สายช่วยให้เราสั่งการสมาร์ทโฟนได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้งาน

 

          นอกจากนี้อีกหนึ่งระบบที่โดดเด่นคือ การดูแลสุขภาพที่สามารถทำได้หลาย ทั้งนับจำนวนก้าวเดิน, เก็บข้อมูลการออกกำลังกาย, ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพทั้งด้านหัวใจ, ความดันโลหิต, ระดับออกซิเจนในเลือด ฯลฯ ทำให้สมาร์ทวอชกลายเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญต่อกลุ่มคนรักสุขภาพ

 

          ล่าสุดเรากำลังจะยกระดับไปอีกขั้น เมื่อมีการพัฒนาระบบที่ทำให้สมาร์ทวอชคาดการณ์ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

 

เมื่อ AI อาจช่วยให้สมาร์ทวอชคาดการณ์ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

 

หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว อาการทางหัวใจที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

 

          หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือ Atrial Fibrillation คือ ภาวะที่หัวใจห้องบนทำงานผิดปกติจนสูญเสียคุณสมบัติในการกระจายเลือด ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงหัวใจท่อนล่างจนทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อัตราการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพในที่สุด

 

          สาเหตุของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีอยู่หลายรูปแบบ ตั้งแต่การเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน เบาหวาน ลิ่มเลือดอุดตัน โรคปอดเรื้อรัง ไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือบางครั้งอาจเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

          อาการของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีตั้งแต่ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก และวิงเวียนศีรษะเป็นหลัก ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยมักละเลยไม่ทันรู้ตัวถึงความผิดปกติ กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของผู้ป่วยให้เกิดโรคแทรกซ้อนชนิดอื่น

 

          หากไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนหลายชนิด ตั้งแต่ลิ่มเลือดอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หลอดเลือดสมอง โรคทางสมอง เนื้อเยื่อสมองตาย ไปจนหัวใจล้มเหลว ซึ่งล้วนเป็นอาการที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ป่วยอย่างร้ายแรง

 

          อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วก็ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากอาการใกล้เคียงกับปัญหาสุขภาพที่พบได้ทั่วไป แต่นี่เป็นความผิดปกติทางหัวใจที่สามารถพบได้มากราว 1 – 2% ในกลุ่มประชากร และสำหรับผู้สูงอายุโอกาสพบจะเพิ่มเป็น 5 – 15% จึงถือเป็นความเสี่ยงทางสุขภาพที่แยกแยะได้ยากหากไม่มีการตรวจอย่างละเอียด

 

          แต่ปัญหาเหล่านั้นอาจหมดไปเมื่อสมาร์ทวอชอาจสามารถคาดการณ์ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้

 

เมื่อ AI อาจช่วยให้สมาร์ทวอชคาดการณ์ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

 

เมื่อสมาร์ทวอชสามารถคาดการณ์หัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ผ่าน AI

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Luxembourg กับการพัฒนา AI ให้สามารถตรวจจับและคาดการณ์การเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยอาศัยข้อมูลอัตราการเต้นหัวใจของผู้ป่วยเป็นตัวชี้วัดแล้วนำมาประมวลผล ช่วยให้เรารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดภาวะนี้กับผู้ป่วย 30 นาทีก่อนเกิดอาการจริง

 

          เดิมการติดตามตรวจสอบอาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เราทราบดีว่านี่เป็นโรคที่ก่อให้เกิดผลกระทบสุขภาพร้ายแรง แต่โอกาสในการเตรียมตัวหรือป้องกันล่วงหน้ามีน้อย เนื่องจากการยืนยันแน่ชัดต้องอาศัยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในช่วงเกิดอาการ จึงยากที่คนทั่วจะสามารถรู้ตัวถึงความผิดปกติจนเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

 

          ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาระบบตรวจจับ ไม่เพียงใช้ตรวจสอบภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอย่างเดียวแต่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเพิ่มโอกาสและตัวเลือกในการรับมือ ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์สำหรับตรวจสอบอาการโดยเฉพาะ

 

          โมเดลที่พัฒนาขึ้นได้รับการตั้งชื่อว่า WARN อาศัยการป้อนข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัตราเต้นหัวใจจำนวนมาก ทั้งข้อมูลการทำงานหัวใจตามปกติ กับข้อมูลของผู้ป่วยก่อนและหลังเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ช่วยให้ระบบหาความแปรปรวนและแตกต่างระหว่างคลื่นหัวใจปกติกับคลื่นหัวใจของผู้ป่วยได้

 

          เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลระบบจะทำการตรวจสอบคลื่นหัวใจที่ได้รับข้อมูล จากนั้นจึงระบุและแยกแยะความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วของผู้ป่วยอย่างแม่นยำ โดยในกรณีที่ผู้ป่วยมีความน่าจะเป็นเพิ่มเกินระดับเกณฑ์ที่กำหนดระบบจะสามารถทำการแจ้งเตือนล่วงหน้าได้อีกด้วย

 

          จากการทดสอบนำ AI ที่ผ่านการเทรนข้อมูลมาประเมินอัตราการเต้นหัวใจเพื่อค้นหาความเสี่ยงในกลุ่มตัวอย่างพบว่า ปัญญาประดิษฐ์สามารถคาดการณ์อันตรายและแจ้งเตือนก่อนเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วล่วงหน้าราว 31 – 33 นาที โดยมีอัตราความแม่นยำโดยเฉลี่ยที่ 78%

 

          ด้วยคุณสมบัติประมวลที่ต้องการข้อมูลอัตราการเต้นหัวใจเป็นหลัก ทำให้ระบบนี้สามารถประมวลผลได้จากข้อมูลอัตราการเต้นหัวใจที่ได้จากสมาร์ทวอช ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับอาการนี้ล่วงหน้า เพิ่มโอกาสในการรักษา ลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ตามมา

 

          จึงอาจเป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยแจ้งเตือนและป้องกันภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอย่างทันท่วงที

 

 

 

          จริงอยู่ถ้าพูดในส่วนความแม่นยำระบบคาดการณ์นี้อาจยังไม่มากพอ แต่ทางทีมวิจัยยังคงพัฒนาโดยคาดว่าจะนำข้อมูลคลื่นหัวใจจากผู้ป่วยมาปรับปรุง เพื่อสร้างโมเดลคาดการณ์ภาวะนี้ให้เข้ากับผู้ใช้งานคนดังกล่าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำ โอกาส และประสิทธิภาพการรักษาต่อผู้ป่วยในระยะยาว

 

          และในอนาคตระบบนี้อาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาแนวทางหรือนวัตกรรมรักษาหัวใจใหม่ๆ อีกด้วย

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.uni.lu/lcsb-en/news/predicting-arrhythmia-30-minutes-before-it-happens/

 

          https://newatlas.com/medical/ai-atrial-fibrillation/

 

          https://www.bangkokhearthospital.com/medical-service/atrial-fibrillation-at-bangkok-heart-hospital

 

          https://www.bumrungrad.com/th/conditions/atrial-fibrillation