"ธนาคารอาหาร" ต้นแบบส่งต่ออาหารส่วนเกินสู่กลุ่มเปราะบาง ลดความเหลื่อมล้ำ
ธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) ต้นแบบการส่งต่ออาหารส่วนเกินสู่กลุ่มเปราะบาง ลดความเหลื่อมล้ำ ต่อยอดความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิ SOS และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดตัว “โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank): การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
เพื่อสร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย มุ่งลดปริมาณขยะอาหารด้วยการจัดการอาหารส่วนเกิน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหาร พร้อมกันนี้ สวทช. ยังสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ และแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) สนับสนุนนโยบาย BCG ด้านอาหารของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดี เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน และส่งเสริมเป้าหมายด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ลดการสูญเสียอาหาร และลดการเกิดขยะอาหาร
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตขยะอาหารที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบาง นอกเหนือจากการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารแล้ว การลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทางก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดวิกฤตปัญหาขยะอาหาร
ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยและมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารอยู่ถึง 3.8 ล้านคน
การเปิดตัวธนาคารอาหารของประเทศไทยจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การส่งต่ออาหารส่วนเกินอันจะช่วยส่งเสริมให้ลดการเกิดขยะอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ และเป็นโครงการต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคผ่านระบบการบริหารจัดการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ผลักดันให้เกิดการบริจาคอาหารส่วนเกินให้ขยายวงกว้างขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้ขยะอาหารและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
ปัจจุบันมูลนิธิ SOS ได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.3 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น 35 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 21,166 ตัน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้วกับโครงการ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้มีการนำแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติของ สวทช. มาใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์ม Cloud Food Bank (CFB) แพลตฟอร์มองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ