จาก ‘บางกอกคณิกา’ ย้อนประวัติศาสตร์โสเภณีสำเพ็งสู่แนวคิดสิทธิในร่างกาย
เปิดดู 'บางกอกคณิกา' จนทำให้อยากย้อนดูความเฟื่องฟูของประวัติศาสตร์โสเภณีโคมเขียว สู่การเรียกร้องความเท่าเทียมของสตรีเพศในฐานะมนุษย์ และชวนคิดว่าทำไมแต่เดิมผู้หญิงเรียกร้องไม่ให้มองเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชาย แต่ปัจจุบันถึงอยากให้ Sex worker เป็นเรื่องถูกกฎหมาย
เปิดตัวได้ไม่กี่ตอนสำหรับซีรีส์ร้อนแรงแห่งปีอย่าง บางกอกคณิกา ที่จัดได้ว่าเป็นเนื้อหาของละครไทยที่น่าดูชม โดยเฉพาะการหยิบยกส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในช่วงปี 2435 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองของโสเภณี ในขณะเดียวกันก็เป็นยุคที่มีการเลิกทาส
มวลของละครเรื่องนี้จึงโอบล้อมไปด้วยเรื่องหนักๆ อย่าง สิทธิ - เสรีภาพ ไว้ด้วยศิลปะการละคร การแสดง และเสียงเพลง
และแม้จะเป็นเรื่องราวละครอิงประวัติศาสตร์ แต่ก็พอจะเห็นทิศทางของละครที่ให้แง่คิดต่อคนในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิความเท่าเทียม เพราะแม้จะผ่านเวลามากว่าร้อยปี แต่เราก็ยังคงเรียกร้องความ ‘เท่าเทียม’ อยู่เนืองๆ ซึ่งคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้คงจะเน้นพลังของสตรีให้เห็นได้แบบถึงพริกถึงขิง ... อย่างไรก็ตามเมื่อได้ดู ก็อดไม่ได้ที่จะพาย้อนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของโสเภณี และตั้งคำถามเพื่อให้ทุกคนได้ชวนสงสัยว่า
ทำไมแต่เดิมผู้หญิงเรียกร้องไม่ให้มองเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชาย แต่ปัจจุบันถึงอยากให้ Sex worker เป็นเรื่องถูกกฎหมาย?
- แขวนโคมเขียว โสเภณีสำเพ็ง อันเลื่องชื่อลือชา
ย้อนกลับไปในช่วงสมัยอยุธยา ลาลูแบร์ซึ่งเป็นทูตของประเทศฝรั่งเศสได้เข้ามายังประเทศไทยและได้ระบุไว้ในจดหมายเหตุว่า มีการค้าประเวณีในสมัยอยุธยา โดยมีโสเภณีราว 600 คน มีซ่องโสเภณี 4 แห่ง อยู่ในชุมชนชาวจีนซึ่งเรียกย่านที่ตั้งสำนักโสเภณีว่า ‘สำเพ็ง’ โดยเจ้าของสำนักต้องเสียภาษีแก่เจ้าภาษี สำหรับภาษีนั้น มีการจัดเก็บโดยเรียกว่า ‘ภาษีบำรุงถนน’ ซึ่งมีการจัดเก็บตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นรายได้ที่ทำเงินเป็นอย่างมากให้กับประเทศ
สำหรับหญิงโสเภณีในสมัยนั้นจะเป็นหญิงทาสที่นายทาสขายต่อมา หรือถูกบิดาและสามีขายเป็นทาส ดังนั้นเมื่อโสเภณีไทยในยุคนั้นเป็นการขายมา จึงไม่ได้รับการยอมรับเช่นกับเกอิชาในประเทศญี่ปุ่น หรือโสเภณีในประเทศอินเดีย การค้าประเวณีในสมัยเดิมจึงผูกยึดโยงกับการริดรอน ‘สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ อยู่สูง ดังเช่นหนังเรื่องบางกอกคณิกา ที่สร้างตัวละครให้พยายามสู้เพื่อให้ได้ซึ่งเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเพื่อความฝันของตนเอง
ต่อมาจากการเติบโตหลังไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับประเทศอังกฤษ การเข้ามาทำงานของแรงงานจีน และการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดการซื้อขายหญิงโสเภณีมากขึ้น กรรมกรจีนในสมัยนั้นมีการขายลูกสาวของตนให้เป็นโสเภณี เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ตกต่ำ หญิงจีนเข้ามาในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการประเมินว่ามีหญิงจีนเข้ามาในไทยราว 41,839 คน ส่วนหนึ่งกลายเป็นโสเภณีและมีการส่งขายไปยังประเทศใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีหญิงจากชาติญี่ปุ่น และตะวันตก เช่น รัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส เข้ามาประกอบอาชีพนี้ด้วย ส่วนหญิงไทยเนื่องจากการคมนาคมในประเทศมีการพัฒนามากขึ้น จึงมีคนถูกหลอกและถูกส่งตัวมาขายยังกรุงเทพมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการเลิกทาส เพราะมีทาสหญิงที่เป็นโสเภณีเดิมได้รับการปล่อยตัวเป็นไทและถูกหลอกมา ซึ่งจะถูกขายไม่จำกัดแค่เฉพาะในสำนักโคมเขียว แต่ขยายไปตาม โรงน้ำชา โรงเต้นรำ หรือโรงแรมต่างๆ
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวรัฐพยายามที่จะเข้ามาควบคุมกิจการโสเภณี โดยมีการตราพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ.127 เพื่อป้องกันการถูกหลอกมาเป็นโสเภณี ซึ่งกำหนดเพิ่มอายุหญิงโสเภณีจาก 16 ปี เป็น 20 ปี และห้ามเจ้าสำนักกักขังโสเภณีและเลี้ยงเด็กอายุ 8-15 ปี รวมทั้งตั้องมีการจดทะเบียนสำนัก และประดับโคมเขียวหน้าสำนัก และยินยอมให้มีการตรวจร่างกายหญิงเพื่อป้องกันโรค
- วัดใหม่ยายแฟง โรงพยาบาลหญิงหาเงิน .. สะท้อนความร่ำรวยและการมีอยู่ของโสเภณี
ส่วนหนึ่งที่ปรากฎในเรื่องบางกอกคณิกา คือ วัดใหม่ยายแฟง วัดใหม่ยายแฟง หรือ วัดคณิกาผล เป็นสถานที่ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองของโสเภณีในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นอย่างดี ประวัติของวัดแห่งนี้เริ่มจาก แต่เดิมบริเวณเยาวราชมีโรงหญิงหากินของยายแฟงตั้งอยู่ เปิดกิจการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 หลังจากนั้นลูกสาวก็รับช่วงกิจการแทนมาเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุที่โรงหญิงแห่งนี้เต็มไปด้วยความหรูหรา ตกแต่งห้องของโสเภณีแต่ละคนด้วยของดีมีระดับ จนทำให้มีชื่อเสียงชนิดที่โรงอื่นสู้ไม่ได้
กิจการโสเภณีรุ่งเรืองถึงขั้นมีการจัดเก็บภาษีจากทางการ โดยระบุว่าหญิงนครโสเภณีต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ โดยมีค่าธรรมเนียมราว 12 บาทในระยะเวลา 3 เดือน และโรงโสเภณีที่จะต้องเสียเงินค่าอนุญาตตั้งโรงโสเภณีในราคาครั้งละ 30 บาท ซึ่งนับว่าสูงมาก แต่จำนวนของหญิงโสเภณีก็ไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด กลับรุ่งเรืองขึ้น จนยายแฟงสามารถสร้างวัดที่เดิมชื่อว่า ‘วัดใหม่ยายแฟง’ นอกจากนี้ ในสมัยดังกล่าวยังมีการสร้างโรงพยาบาลสำหรับหญิงโสเภณีด้วย ชื่อว่า ‘โรงพยาบาลหญิงหาเงิน’ ซึ่งไม่ไกลจากสำเพ็งเท่าไหร่นัก ต่อมาโรงพยาบาลแห่งนี้รับการรักษาคนทั่วไปด้วยจึงมีการตั้งชื่อใหม่ว่า ‘โรงพยาบาลกลาง’ ในปี พ.ศ.2458
- ประชาธิปไตย-ผัวเดียวเมียเดียว-การประกาศของสหประชาชาติ
บางกอกคณิกา ออนแอร์ได้ไม่กี่ตอน จึงไม่รู้ว่าบทสรุปของตัวละครโสเภณีในเรื่องจะเป็นอย่างไร ... แต่ต่อไปนี้คือไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์จริงของโสเภณีในประเทศไทย
จะพบว่า แต่เดิมการค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับทาส และเกิดขึ้นก่อนการเข้ามาของ 'แนวคิดสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ' ผู้หญิงจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหารายได้และอำนาจ จนเกิดการหลอกลวงคนเข้ามาสู่การค้าบริการ
ต่อมาในปี ค.ศ.1848 ประโยคที่ว่า “พวกเราจงยึดถือความจริงนี้ไว้ให้เป็นที่ประจักษ์ ว่าทั้งชายและหญิงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เท่าเทียมกัน” ได้จุดประกายให้ผู้คนเริ่มสนใจเรื่องสิทธิของสตรี เกิดเป็น ‘Feminism’ (สตรีนิยม) ที่นับว่าเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ถือกำเนิดขึ้น
เกือบร้อยปีถัดมาแนวคิดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย การมองเห็นว่า สิทธิสตรี ก็เท่าเทียมกับเพศชายถือกำเนิดขึ้น รวมไปกับมโนทัศน์เรื่องผัวเดียว - เมียเดียว ซึ่งเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 2490-2530 แนวคิดนี้เริ่มจากชนชั้นกลางที่เรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง รวมไปถึงแนวคิดสุภาพบุรุษที่โด่งดังขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ทำให้การมีผัวเดียว-เมียเดียวเป็นวัฒนธรรมของชาติ รวมไปถึงช่วงปี 2518 ที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นปีสตรีสากล ส่งผลให้เกิดการพูดประเด็นเรื่องสิทธิสตรีและความเสมอภาคอย่างกว้างขวาง
ฉะนั้น เรื่องราวของโสเภณีที่ผู้หญิงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางอารมณ์ และการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ จึงกลายเป็นเรื่องที่รัฐอยากจะกำจัดทิ้งด้วยการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ประเทศทัดเทียมดั่งชาติตะวันตก โดยยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับรองโสเภณีทั้งหมด จนทำให้โสเภณีกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในที่สุด อย่างไรก็ตามแม้ทางการไทยหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาโสเภณีได้ แต่ปรากฎว่ากลับมีโสเภณีจำนวนมากขึ้น จนถึงขั้นว่ามีภรรยาบางส่วนต้องประกอบอาชีพโสเภณี ชายไทยบางส่วนก็นิยมใช้บริการโสเภณีแทนการสะสมภรรยาลับ
- การต่อสู้กันของฝั่งที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย และการพัฒนาของแนวคิด Sex worker
อย่างที่เกริ่นไปว่า ทำไมแต่เดิมผู้หญิงเรียกร้องไม่ให้มองเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชาย แต่ปัจจุบันถึงอยากให้ Sex worker เป็นเรื่องถูกกฎหมาย?
หากมองบริบทตั้งแต่อดีต จะพบว่าเรื่องราวของโสเภณี ถูกยึดโยงกับ ‘เสรีภาพ’ มาเนิ่นนาน เพราะการเป็นโสเภณีแต่เดิมมาจากการค้าทาส รวมไปถึงมีการหลอกลวงมาค้าบริการ และการมองว่าผู้หญิงโสเภณีต่ำต้อยเป็นแค่เครื่องบำบัดทางเพศ อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป ทาสได้หมดไปจากสภาพสังคมไทย และแนวคิดสตรีนิยมเฟื่องฟูและพัฒนาไปไกลมากกว่าเดิม มีกลุ่มสตรีที่มองว่า การค้าประเวณี เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และเป็นสิทธิบนร่างกายของตัวเอง ทำไมพวกเธอถึงทำไม่ได้?
นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญคือ Sex worker ไม่เคยหายไปจากโลกใบนี้ ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่ดาษดื่น! แต่การที่ผลักให้พวกเขาตกไปอยู่ในมุมมืด อาจจะทำให้ถูกกดขี่และโดนค้ามนุษย์มากกว่าหรือไม่?
เพราะฉะนั้นปัจจุบันแม้แต่ในประเทศไทยจึงเกิดการต่อสู้ว่า โสเภณีควรหรือไม่ที่จะถูกกฎหมาย?
ฝั่งที่คิดว่าไม่ควร ให้เหตุผลหลักๆ สรุปคือด้านจริยธรรม ศีลธรรม (ผัวเดียว-เมียเดียว) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเชื่อทางศาสนา รวมไปถึงความกังวลต่อประเด็นการค้ามนุษย์ ส่วนฝั่งที่เห็นว่าควรถูกกฎหมาย ให้เหตุผลว่าพวกเขาควรมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง แต่ก็คงความกังวลต่อประเด็นการค้ามนุษย์เช่นกันแต่มองว่าตรงนี้ต่างหากเป็นเรื่องที่กฎหมายควรเข้ามาควบคุมจัดการ และทำให้พวกเขาสามารถเป็น Sex Worker ได้แบบปลอดภัย ไม่ใช่ควบคุมไม่ให้พวกเขาทำอาชีพนี้ไม่ได้
สำหรับประเทศไทย เมื่อมองที่ตัวกฎหมาย ไทยมีกฎหมายปรามการค้าประเวณีในปี 2503 เพื่อไม่ให้จำนวนโสเภณีมากขึ้น รวมไปถึงป้องกันการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ประสบความสำเร็จแม้จะกำหนดโทษครอบคลุมทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ก็ตาม แต่เนื่องจากอัตราโทษที่ต่ำและการกำหนดนิยามบางส่วนไม่ชัดเจน ต่อมาจึงได้เกิดเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า กฎหมายได้เอาโทษแก่ตัวโสเภณีลดลง เป็นการใช้มาตรการลงโทษโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อข่มขู่และยับยั้ง เพื่อให้เห็นว่าการค้าประเวณีเป็นความผิด
แน่นอนว่ามีการออกมาให้ความเห็นว่าตัวบทลงโทษดังกล่าวไม่ถูกต้องนัก เพราะหญิงบริการไม่ได้ก่อความเสียหายให้ผู้ซื้อ อีกทั้งการลงโทษดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้อัตราการค้าประเวณีลดลงอย่างที่รัฐตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแต่อย่างใด หนำซ้ำยังทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ ที่มีการให้ส่วย คอรัปชั่น และนำไปสู่การค้ามนุษย์ได้มากกว่าเพราะผู้ค้าบริการไม่ได้ถูกคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย
นอกจากนี้ หากมองบริบทสังคมในปัจจุบัน พบว่าที่มาของโสเภณีต่างออกไป แต่เดิมอาจมีการหลอกลวงจนทำให้เกิดค้ามนุษย์ เพราะผูกพันกับการค้าทาสมาตั้งแต่เดิม แต่ทุกวันนี้มีผู้หญิงหลายคนที่อยากทำงานเป็น Sex Worker ในรูปแบบต่างๆ เพราะความชอบและเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง ไม่ได้เป็นเพราะถูกบังคับแต่อย่างใด
ล่าสุดภาคประชาชนบางส่วน ได้มีข้อเสนอเรียกร้องให้มีการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งใช้ตั้งแต่ปี 2539 โดยมีการให้ข้อเสนอโดยสรุปว่า
- ผู้ที่ให้บริการทางเพศโดยความสมัครใจไม่มีความผิด แต่ถ้าหากก่อให้เกิดความไม่สงบในที่สาธารณะมีความผิด หรือหากมีการเผยแพร่สิ่งลามกสู่สาธารณะมีความผิด
- ส่วนนายหน้าให้คงความผิดตามกฎหมาย รวมถึงบุคคลที่ดำรงชีพจากรายได้ของผู้ให้บริการทางเพศ ในลักษณะของการเป็นธุระจัดซื้อ ขาย จำหน่าย หรือหน่วงเหนี่ยวกักขัง
- เจ้าของผู้จัดการกิจการไม่มีความผิดแต่ต้องมีการขออนุญาตประกอบกิจการ และอยู่ภายใต้ข้อบังคับคือ ห้ามรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือปล่อยให้ผู้ใช้บริการที่อายุต่ำกว่า 20 ปีให้บริการ
- นอกจากนี้ยังเอาผิดผู้ใช้บริการทางเพศที่กระทำชำเราผู้ให้บริการโดยไม่ยินยอม
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเสนอ ก็จะเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันในเรื่องของการป้องกันการค้ามนุษย์ การหลอกหลวง และค้าบริการโดยไม่ได้รับความยินยอม แต่ความขัดแย้งก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะยังเหลือข้อถกเถียงที่ว่า
หากผู้ให้บริการยินยอมเพราะถือว่าเป็นสิทธิในร่างกายของตนเองควรจะทำอย่างไร?
ซึ่งข้อโต้แย้งทั้งสองฝั่งตั้งอยู่กันคนละด้าน ด้านหนึ่งใช้เหตุผลด้านศีลธรรม จริยธรรม อีกด้านหนึ่งคือเรื่องสิทธิในร่างกายของตัวเองที่กำลังฟาดฟัน และต่อสู้กันอยู่!
ส่วนบทสรุปของ บางกอกคณิกา ยังมาไม่ถึง และซีรีส์เรื่องนี้ก็อาจไม่ได้เล่ามาไกลถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่การได้เห็นซีรีส์ไทยที่หยิบยกเรื่องราว 'สิทธิสตรี' ขึ้นมาพูดถึงผ่านตัวละครที่เป็น 'โสเภณี' ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าติดตาม น่าดูชม และทำให้ประเด็นสิทธิสตรีได้รับการพูดถึงไม่มากก็น้อย
นอกจากนี้ยังทำให้ได้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใดการเรียกร้อง 'สิทธิ-เสรีภาพ' เพื่อให้ได้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สามารถทำตามฝันของตนเองได้อย่างเสรี ก็เป็นเรื่องที่ยังคงเข้าไปในใจของผู้คน .. เพราะมันคือพื้นฐานของการเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์.
ที่มาข้อมูล
https://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/view/11792/9780
http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/1549/8/chap4.pdf
https://www.dsi.go.th/Files/25610910/แนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีที่มีลักษณะเป็นการค้ามนุษย์ในประเทศไทย.pdf