posttoday

ครม.ไฟเขียวดัน 'โคราชเมืองศิลปะ' ขับเคลื่อน Soft Power

03 กรกฎาคม 2567

ครม.ไฟเขียวดัน 'โคราชเมืองศิลปะ' ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างงาน-รายได้สู่จังหวัด เน้น มวยโคราชและการฟื้นฟูภูมิทัศน์วัฒนธรรมคูเมืองและภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย!

เมื่อวานนี้ (วันที่ 2 กรกฎาคม 2567) ที่หอประชุมราชภัฏรังสฤษฎ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 4/2567 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการการดำเนินการขับเคลื่อน Soft Power จังหวัดนครราชสีมาและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามที่กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)เสนอ ได้แก่

 

ครม.ไฟเขียวดัน \'โคราชเมืองศิลปะ\' ขับเคลื่อน Soft Power

 

1)โครงการขับเคลื่อน Soft Power โคราชเมืองศิลปะ ใช้งบประมาณดำเนินการ 8.5 ล้านบาท ดำเนินการเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567  มีกิจกรรม ได้แก่ โครงการ KORAT GRAFFITI CITY งานเทศกาลสีน้ำ “สร้างสรรค์งานศิลป์”  โครงการพัฒนาทักษะ One Family One Soft Power(OFOS) ส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นและรสชาติ...ที่หายไป THE Lost Taste ของจังหวัดนครราชสีมา และ KORAT ORIGINAL FILM “มวยโคราช”

 

ครม.ไฟเขียวดัน \'โคราชเมืองศิลปะ\' ขับเคลื่อน Soft Power

 

2)โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์วัฒนธรรมคูเมืองกำแพงเมือง เสริมความมั่นคงประตูเมืองด้านทิศเหนือ(ประตูผี)  อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ใช้งบประมาณดำเนินการ 7 ล้านบาท ดำเนินการเสริมความมั่นคงโบราณสถานประตูเมืองพิมายด้านทิศเหนือ(ประตูผี)ให้มั่นคงและแข็งแรง ปรับปรุงพื้นที่คูเมืองให้เป็นแนวคูเมืองเดิมและปรับภูมิทัศน์คูเมืองรอบกำแพงเมืองให้คงอยู่ตามสภาพเมืองโบราณ

“โครงการขับเคลื่อน Soft Power โคราชเมืองศิลปะ และพัฒนาคูเมืองกำแพงเมือง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จะทำให้โคราชเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยจูงใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวคนไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และช่วยสร้างอาชีพ สร้างงานและรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศ” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

 

ครม.ไฟเขียวดัน \'โคราชเมืองศิลปะ\' ขับเคลื่อน Soft Power

  • มวยโคราช  ประวัติศาสตร์ของเมืองอันยาวนาน

​​​​​​​มวยโคราช เป็น 1 ใน 4 สายของมวยไทยที่มีชื่อเสียง อันประกอบด้วย มวยลพบุรี มวยไชยา มวยท่าเสา และ มวยโคราช  ... มวยโคราชถูกตั้งชื่อตามชื่อของจังหวัด นครราชสีมา  เป็นมวยที่ มีชื่อเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสานของ ประเทศไทย มวยโคราชมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยแต่เดิมมีเป้าหมายในการฝึกซ้อมเพื่อการปกป้องประเทศชาติ 

 

โคราช ได้ชื่อว่าเป็นเมืองมวยมาช้านาน ก็เพราะแต่เดิมเมืองโคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอก ประชาชนจึงต้องมีความพร้อมในการต่อสู้อยู่เสมอ มวยโคราชและศิลปะ การต่อสู้ต่าง ๆ จึงถูกเรียนรู้ ฝึกฝน ปลูกฝังอยู่ในวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของลูกหลานชาวโคราช โดยมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเหตุการณ์ที่ “ท้าวสุรนารี” หรือ “คุณหญิงโม” ได้นำชาวเมืองโคราชใช้อาวุธเท่าที่ หาได้และหมัดมวยเข้าสู้รบกับกองทัพทหารของเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์ ซึ่ง ยกทัพมากวาดต้อนพลเมืองชาวโคราชไปเวียงจันทน์ จนได้รับชัยชนะที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ในปี พ.ศ. 2369 นั่นเอง

 

ครม.ไฟเขียวดัน \'โคราชเมืองศิลปะ\' ขับเคลื่อน Soft Power

  • อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย แหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม

ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย มีปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้นก็คือ ปราสาทหินพิมาย แสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางอาณาจักรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ํามูลไปสู่เมืองพระนครของอาณาจักรกัมพูชา และบ้านเมืองในเขตลุ่มแน่น้ําเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม  ปราสาทเกือบทั้งหมดมีสภาพปรักหักพังทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในพุทธศักราช 2507 กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส สนับสนุนองค์ปรางค์ประธานของปราสาทหินพิมายจนแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2511 ปราสาทหินพิมายนับเป็นพุทธศาสนสถานในลัทธิมหายานที่สร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 

นอกจากปราสาทที่มีความสำคัญแล้ว อุทยานประวัติศาตร์พิมายคือพื้นที่ของ 'เมืองพิมาย' ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีอายุราว ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว เมืองพิมายมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕๖๕ เมตร ยาว ๑,๐๓๐ เมตร  มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ มีแม่น้ำมูลไหลผ่านทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทางทิศใต้มีลำน้ำเค็ม ทิศตะวันตกมีลำน้ำจักราชไหลขึ้นไปบรรจบกับลำน้ำมูล คำว่า “พิมาย” น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรที่กรอบประตูด้านทิศตะวันออกของระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมาย ระบุชื่อ “กมรเตงชคตวิมาย” และกล่าวถึงการสร้างรูปเคารพสำคัญชื่อ “กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย” ใน พ.ศ.๑๖๕๑ ดังนั้นเมืองพิมาย จึงเชื่อได้ว่าเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ ที่มีการพัฒนาของชุมชนและสังคมตามลำดับ (อ้างอิงจากhttps://www.museumthailand.com/th/museum/Phimai-Historical-Park)