posttoday

เปิดมาตรการป้องกัน 'ฝีดาษลิง' พันธุ์ใหม่ของไทย หลังการแจ้งเตือนของ WHO

20 สิงหาคม 2567

เปิดมาตรการป้องกันและควบคุมฝีดาษลิงของไทย หลังจากที่ทั่วโลกยกระดับป้องกัน ‘ฝีดาษลิง’ สายพันธุ์ clade 1b ตามการแจ้งเตือนขององค์การอนามัยโลก

หลังจากที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แจ้งเตือนสถานการณ์ การระบาดของโรคฝีดาษวานรในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก ให้เป็น PHEIC (public health emergency of international concern)  ทาง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มมาตรการป้องกันและเฝ้าระวัง ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทุกด่าน โดยเฉพาะด่านท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา  และเน้นไปที่นักเดินทางจากทวีปแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก ดังนี้

  1. ตรวจสอบการลงทะเบียน Health Declaration เพื่อการควบคุมโรค ซึ่งต้องมีที่อยู่การเดินทางและสถานที่ติดต่อระหว่างอยู่ในประเทศไทย
  2. ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง (Health Beware Monitor) 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน บริเวณด่านคัดกรอง รวมทั้ง QR code สำหรับการรายงานอาการเจ็บป่วยของตนเอง
  3. วัดอุณหภูมิร่างกาย
  4. หากพบผู้เดินทางมีผื่นหรืออาการเข้าได้กับ 'โรคฝีดาษวานร'  จะทำการแยกไว้ในห้องแยกโรคทันที และเก็บตัวอย่างจากผื่น และจากคอหอย ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธี RT-PCR ณ ห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคฯ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสามารถรอผลตรวจในห้องแยก 70 นาที
  5. หากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบ เป็นโรคฝีดาษวานร จะส่งรับการรักษา ณ สถาบันบำราศนราดูร
  6. กรณีพบผู้เดินทางมีผื่น ชัดเจนที่ด่าน หรือสนามบิน ให้พามาตรวจสอบอาการที่ ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ได้ทันที

นอกจากนี้ ยังมีสายด่วน 1442 กรมควบคุมโรค เพื่อให้ผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการของตนเองหรืออาการของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอาการที่น่าสงสัยได้แก่ อาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือเริ่มสังเกตเห็นมีผื่นขึ้นตาม ร่างกายเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง

 

เปิดมาตรการป้องกัน \'ฝีดาษลิง\' พันธุ์ใหม่ของไทย หลังการแจ้งเตือนของ WHO

 

ทั้งนี้ ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้ออกมายืนยันความพร้อมของห้องปฏิบัติการซึ่งมีเครือข่ายกว่า 62 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัด ประกอบด้วย

ภาคกลาง

  • กรุงเทพมหานคร
  • นครปฐม
  • นนทบุรี
  • ปทุมธานี
  • นครสวรรค์
  • พิษณุโลก
  • สมุทรปราการ
  • สมุทรสงคราม
  • สระบุรี

ภาคเหนือ

  • เชียงราย
  • เชียงใหม่
  • ลำปาง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • ขอนแก่น
  • นครราชสีมา
  • สระแก้ว
  • อุดรธานี
  • อุบลราชธานี

ภาคใต้

  • ตรัง
  • นครศรีธรรมราช
  • สงขลา
  • ภูเก็ต
  • สุราษฎร์ธานี

ภาคตะวันออก

  • ชลบุรี

ภาคตะวันตก

  • ราชบุรี

 

โดยห้องปฏิบัติการสามารถตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานรและรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดไปยังห้องปฏิบัติการเครือข่ายได้  เพื่อช่วยส่งเสริมการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดการระบาด และช่วยสนับสนุนการตรวจจับสายพันธุ์เคลดวัน Clade 1 ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคได้