posttoday

คาด! สมรสเท่าเทียมสร้างรายได้ปีละ 1.7 พันล้าน รับลูกบุญธรรมเพิ่ม 8 เท่า

27 สิงหาคม 2567

สภาพัฒน์เผยหลังมีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีละ 1.7 พันล้านบาท และช่วยเหลือเด็กที่โตนอกบ้านจากการรับบุตรบุญธรรมได้มากขึ้น 8 เท่า!

สภาพัฒน์ออกรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสสอง ปี 2567 ฉบับที่ 3 เดือนสิงหาคม 2567 เผยถึงผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จากกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย จะทำให้คู่รักเพศหลากหลายได้รับสิทธิตามกฎหมายในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี่

  1. สิทธิในการตั้งครอบครัว โดยจะเปลี่ยนไปใช้คำว่า ‘คู่สมรส’ แทนคำว่า ‘สามี-ภรรยา’ ซึ่งทำให้ไม่เกิดการระบุเพศ และทำให้คู่รัก LGBTQIA+ สามารถมีสถานะทางครอบครัวตามกฎหมาย สามารถดำเนินการต่างๆ เช่น การฟ้องหย่า จากการประพฤติที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ ตลอดจนการฟ้องเรียกค่าทดแทนผู้ล่วงเกินคู่สมรสในทำนองชู้
  2. สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเปิดโอกาสให้คู่รักเพศหลากหลายสามารถรับบุตรบุญธรรมเป็นลูกของตนเองได้ชอบด้วยกฎหมาย
  3. สิทธิทางทรัพย์สินและมรดก เช่น การจัดการสินสมรส การกู้ยืมเงิน การนำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกัน รวมไปถึงหนี้สมรสที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต คู่สมรสจะได้รรับสินสมรสในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง และย่อมมีสิทธิตามมรดก
  4. สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต เช่น การจัดการแทนอีกฝ่ายที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา สิทธิยินยอมในการให้การรักษาพยาบาล

 

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่มีข้อกังวล คือ กฎหมายที่ต้องพ่วงในประเด็นดังกล่าว เช่น สวัสดิการข้าราชการ จะสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฎฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2553 หรือไม่ ซึ่งรายงานของสภาพัฒน์กล่าวว่าหากกฎหมายผ่านแล้วย่อมได้ และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้

ขณะที่สวัสดิการลูกจ้างภาคเอกชนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากส่วนนี้เช่นกัน รวมไปถึงเงินบำเหน็จชราภาพในกรณีที่อีกฝ่ายเสียชีวิต เงินสงเคราะห์จากประกันสังคม ค่าทำศพ หรือเงินจากการทำประกันชีวิต

 

 

  • กระตุ้นเศรษฐกิจ คิกออฟด้วยธุรกิจรับจัดงานแต่งงาน

หลังพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีการบังคับใช้ จะเกิดการแต่งงานมากมาย ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการสมรส โดยผลการศึกษาของสถาบันด้านการวิจัย The William Institute สหรัฐอเมริกา พบว่า หลังมีการบังคับใช้ในอเมริกาในปี 2558-2562 เศรษฐกิจได้เกิดการกระตุ้นถึง 3.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และช่วยเกิดการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มกว่า 45,000 ราย

โดยเหตุผลของการเกิดผลทางเศรษฐกิจเกิดจากกลุ่ม LGBTQIA+ ร้อยละ 75 เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงและไม่มีลูก เรียกว่ามีรายได้สูงกว่าประชากรทั่วไป รวมทั้งพฤติกรรมการใช้จ่ายนั้นสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป

 

สภาพัฒน์เผยว่า สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของ Ipsos ในปี 2566 คาดว่า ไทยจะมีประชากร LGBTQIA+ ที่เป็นผู้ใหญ่กว่า 4.4 ล้านคน ซึ่งหากใช้อัตราการสมรสเช่นเดียวกับการสมรสระหว่างชายหญิง จะส่งผลให้มีการจัดงานแต่งงานเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นงาน หรือสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงปีละ 1.7 พันล้านบาท

และเป็นโอกาสเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงแรม สตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าซื้อชุดแต่งงาน บริการรับจัดงานแต่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่าจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นกลุ่มเพศหลากหลายมีอยู่ร้อยละ 4.9 เลยทีเดียว

 

ที่มา : รายงานสภาวะสังคมรายไตรมาส สภาพัฒน์

 

 

  • เพิ่มความมั่นคงให้แก่ครอบครัว ช่วยเหลือสถานการณ์เด็กโตนอกบ้านในไทย

สภาพัฒน์ยังเปิดเผยถึงผลกระดบด้านสังคมจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยกล่าวถึงประเด็นที่ว่าหลายคนเคยมองว่ากลุ่มชายรักชายนั้น จะคบกันยืดหรือไม่ แต่จากผลการศึกษาเปิดเผยว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มชายรักชายคบกันไม่ยืนยาวเนื่องจากไม่มีกฎหมายสมรส และเผชิญกับปัญหาการยอมรับจากสังคมและความมั่นคงในชีวิต

ฉะนั้น การที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกบังคับใช้ จะลดทอนปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้เกิดการรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงดู และลดปัญหาเด็กโตนอกบ้านหรือถูกทอดทิ้งได้อีกทางหนึ่ง โดยผลการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาพบว่า คู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานแล้วมีการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและอุปถัมถ์เด็กในอัตราที่สูงกว่าคู่รักต่างเพศอย่างมีนัยสำคัญ

โดยมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 24 ขณะทีคู่รักต่างเพศอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งจะช่วยปัญหาเด็กเติบโตในสถานรับรอง ซึ่งพบว่ามักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวกว่าเด็กที่อาศัยในครอบครัวอุปถัมภ์

นอกจากนี้ผลการศึกษาใน ResearchGate ในยุโรป ยังพบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยพ่อแม่เพศเดียวกันจะมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่ดีกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่เพศตรงข้าม เนื่องจากมีความเอาใจใส่ และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงมีความขัดแย้งในครอบครัวน้อยกว่าอีกด้วย