posttoday

เปิดสถิติคนไทยเสียชีวิตด้วย 'โรคหลอดเลือดสมอง' วันละ 100 คน และอายุน้อยลง!

27 สิงหาคม 2567

สถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง หลังพบจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงในรอบ 4 ปี โดยมีการเก็บสถิติจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 แล้วกว่า 35,116 ราย คิดเฉลี่ยวันละ 100 คนและพบมากขึ้นในกลุ่มคนที่อายุ 18-39 ปี พร้อมเผยปัจจัยเสี่ยงและวิธีสังเกตอาการ

จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ของสภาพัฒน์ ได้มีการระบุถึงปัญหาทางด้านสุขภาพที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญ โดยมีประเด็นเรื่อง 'การเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง'  ที่เพิ่มสูงขึ้นในไทย

โดยสถิติองค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) รายงานว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกมากกว่า 101 ล้านราย เสียชีวิตประมาณ 6.5 ล้านรายต่อปี

สำหรับประเทศไทย ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง

จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 1 สิงหาคม 2567) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 355,213 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีผู้ป่วย 350,934 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีจำนวน 47,275 ราย เพิ่มขึ้นมากสุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 - 2566)

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 1 สิงหาคม 2567) พบผู้เสียชีวิตแล้ว 35,116 ราย (เฉลี่ยวันละ 100 คน )  ซึ่งในกลุ่มอายุ 18 – 39 ปี มีจำนวนผู้ป่วยขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด

 

  • สาเหตุและปัจจัยการเกิดโรค

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง การออกกำลังกายไม่เพียงพอ การบริโภคอาหารไม่เหมาะสม ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน และภาวะเครียด

สำหรับโรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมและการดำเนินชีวิต จนทำให้เกิดการสะสมของอาการและโรคตามมา และเมื่อเป็นก็จะมีอาการเรื้อรังรักษาให้หายได้ยาก โดย NCDs นั้นจัดว่าเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม และผู้ที่เป็นโรค NCDs นั้นมักจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่าร้อยละ 44 เลยทีเดียว ซึ่งในแต่ละปีพบผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ในกลุ่มอายุ 30-69 ปี หรือเรียกว่า “การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” มากถึง 15 ล้านคน โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี  และผู้ที่ป่วยเป็นโรค NCDs จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุด ราวร้อยละ 11 

ส่วนกลุ่มโรคใน NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ เกิดจากการกินอาหารไขมันสูงมากเกินไป ไขมันจะไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดต่างๆ ในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดอุดตัน เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้สะดวก เสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตได้
  2. โรคมะเร็ง เกิดจากเซลล์ในร่างกายแตกตัวผิดปกติ เกิดเป็นเซลล์มะเร็งตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากตรวจพบและได้รับการรักษาล่าช้า จะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
  3. โรคอ้วนลงพุง เกิดจากมีพฤติกรรมการกินมากกว่าการเผาผลาญออก ไขมันส่วนเกินไปสะสมอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะในช่องท้อง เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองแตก ไตวาย เป็นต้น

ซึ่งอาการเจ็บป่วยของโรคในกลุ่มนี้จะมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกัน เช่น ผู้ที่โรคอ้วน หรือเบาหวานก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจได้ เป็นต้น

 

  • สังเกตอาการตนเองตามหลักการ B.E.F.A.S.T 

วิธีสังเกตอาการหากสงสัยว่าเราจะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ จะเรียกว่า หลักการ B.E.F.A.S.T  เพื่อให้จำได้ง่าย ได้แก่

B (Balance) เดินเซ เวียนศีรษะบ้านหมุนฉับพลัน

E (Eye) ตามัว มองเห็นภาพซ้อนฉับพลัน

F (Face) ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน

A (Arm) แขน ขา อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก

S (Speech) พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ออกทันทีทันใด

T (Time) หากมีอาการให้รีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว  หากไปพบแพทย์ช้า อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรืออาจจะกลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้