posttoday

ม.รามฯยุคใหม่เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์-สุขภาพผลิตบัณฑิตรับสังคมสูงวัย

11 กันยายน 2567

เปิดยุคใหม่ ม.รามคำแหง "วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์" รักษาราชการแทนอธิการบดีฯ มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพ เปิดหลักสูตรแพทย์แผนไทย ขยายโอกาสด้านสหเวชศาสตร์ผลิตบัณฑิตรองรับสังคมสูงวัย

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวในโอกาสพบสื่อมวลชน RU PRESS MEETING  ณ ห้องประชุมชั้น2 อาคารศรีศรัทธา มหาวิทยาลัยรามคำแหงว่า งานในหน้าที่รักษาราชการแทนฯเปรียบเหมือนเป็นเจ้าอาวาสวัดให้การบริหารงานเป็นไปด้วยความราบรื่น หลังจบการศึกษาที่จุฬาฯในปี2513 ก็มาสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี2514 ซึ่งเริ่มเปิดทำการภายใต้ปรัชญาของมหาวิทยาลัยฯ ในการดูแลรับผิดชอบสังคมไทยให้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นม.ปลาย ซึ่งไม่มีที่เรียนต่อ ถือเป็นการรองรับไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนแบบตลาดวิชา 

ตลอดระยะเวลา 53ปีของก่อตั้งมหาวิทยารามคำแหง ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคม หรือมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต หากแต่มุ่งการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ให้ประชาชนในประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาสังคม เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม ทุกเชื้อชาติ ตั้งแต่รวยที่สุด จนที่สุด แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสหาวิชาความรู้ในแบบตลาดวิชา มหาวิทยารามคำแหงเกิดมาเพื่อรองการเปลี่ยนแปลงทุกยุคสมัย แม้กระทั่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่เราก็ยังขยายโอกาสจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ผ่านทางระบบออนไลน์และออฟไลน์ 
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ ระบุด้วยว่า ในแต่ละปีมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ต่ำกว่าปีละ40,000คน การเปิดโอกาสทางการศึกษามหาวิทยาลัยไม่มีการปรับค่าหน่วยกิต เพราะต้องการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนหนังสือ ได้มีโอกาสพบกับพ่อค้าขายปาท่องโก๋ เหลือบไปเห็นหนังสือเรียนของมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้ๆ ก็ได้รับคำตอบว่ากำลังเรียนอยู่ชั้นปี3 ใกล้จบแล้ว ก็ภาคภูมิใจว่าเรามีลูกศิษย์ นักศึกษาอยู่ทุกกลุ่มทุกที่ แสดงให้เห็นว่าการศึกษาทำให้อยากมีอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

"ในอนาคตนอกจากการเปิดการเรียนการสอนตลาดวิชาด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะมุ่งพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ และสุขภาพ ขณะนี้เรามีการเตรียมความพร้อมโดยเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ แพทย์แผนไทย สหเวชศาสตร์ รองรับสังคมสูงวัยด้วย"
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ ระบุด้วยว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีความตั้งใจจะเปิดคณะแพทยาศาสตร์ ซึ่งมีการร่างหลักสูตรไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  คิดกันจนถึงการสร้างโรงพยาบาลขนาด100เตียงและขยายไปถึงการสร้างโรงพยาบาลที่วิทยาเขตบางนา แต่เนื่องจากเจอกับช่วงสถานการณ์โควิด-19ระบาด การเปิดคณะแพทยาศาสตร์จึงถูกพับเอาไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปในอนาคตอาจเปิดหลักสูตร คณะทัณตแพทย์ศาสตร์เพราะมูลค่าการขยายโอกาสทางการศึกษาใช้เงินงบประมาณน้อยกว่าคณะแพทย์ศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังไม่ได้ออกนอกระบบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในทุกรัฐบาลก็เคยสอบถามว่ามีความพร้อมจะออกนอกระบบหรือไม่ แต่ได้ตอบกลับไปว่า หากให้ออกนอกระบบก็มีความพร้อม แต่ก็ต้องมาช่วยตอบคำถามกับสังคมไทย เพราะจะเกิดการประท้วง เนื่องจากอาจหวั่นเกรงกันว่าหากออกนอกระบบไปแล้วค่าหน่วยกิตจะแพงขึ้น ขณะเดียวกันอาจารย์หลายท่านในมหาวิทยาลัยอื่นที่ออกนอกระบบไปแล้วสนใจมาสอนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งยังไม่ออกนอกระบบ.