posttoday

“ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” แห่งแรกใน กทม. ที่รร.สวนกุหลาบฯ

13 กันยายน 2567

“ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” ที่ “รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย” แห่งแรกใน กทม. ยกระดับคุณภาพห้องพยาบาลในโรงเรียนเข้าถึงสิทธิสุขภาพ ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” หากเจ็บป่วยพบแพทย์ทางไกล พร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน เตรียมขยายผลโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ กทม.

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567  ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายถนอม บุญโต รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 ร่วมพิธีเปิดและเยี่ยมชม “บริการแพทย์ทางไกลในห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า  “ปัญหาของห้องพยาบาลในโรงเรียน คือไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มาดูแล ส่วนมากจะเป็นคุณครูที่ผลัดกันเข้ามาเวร นอกจากนี้ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่โรงเรียนต้องแบกรับ ซึ่งการมีโครงการนี้เกิดขึ้นจะเป็นการยกระดับบริการ ให้นักเรียนได้รับการดูแลจากบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขโดยตรง ได้รับบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการวิชาชีพ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ของโรงเรียน และผลดีอีกประการคือยังเป็นการปูรากฐานให้นักเรียนรู้จักและคุ้นเคยกับการใช้สิทธิบัตรทอง ที่เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคน และในอนาคต เราหวังว่าจะสามารถขยายการให้บริการไปยังโรงเรียนทุกแห่งในพื้นที่ กทม. ต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ด้าน นายถนอม กล่าวว่า ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน จะมีผู้ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เข้ามาดูแลการจัดบริการ นอกจากมีผู้ช่วยพยาบาลมาประจำที่ห้องพยาบาลฯ แล้ว ยังให้บริการระบบการแพทย์ทางไกล พร้อมสำรองยาที่จำเป็นเพื่อให้การรักษาพยาบาล 

 

“ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” แห่งแรกใน กทม. ที่รร.สวนกุหลาบฯ

 

สำหรับที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่ผ่านมาได้เริ่มนำร่อง “โครงการบริการแพทย์ทางไกลในห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” มาตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2567 แล้ว จากผลการดำเนินการเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยมีนักเรียนเข้ารับบริการผ่านระบบนี้แล้ว 344 คน โดยหลังจากนี้จะมีการขยายผลเพิ่มเติมไปยังโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลต่อไป

“เมื่อนักเรียนมีอาการเจ็บป่วยเข้ารับบริการที่ห้องพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลจะทำการคัดกรอง ซักประวัติ ประเมินอาการเบื้องต้น จากนั้นเมื่อยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชนแล้ว จะได้พบคุณหมอผ่านระบบการแพทย์ทางไกลเพื่อประเมินอาการเจ็บป่วย และจะได้รับยาตามอาการ  พร้อมคำแนะนำการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ส่วนในกรณีที่ต้องทำหัตถการ ผู้ช่วยพยาบาลประจำห้องพยาบาลจะเป็นผู้ทำหัตถการเบื้องต้นให้ นอกจากนี้ในกรณีจำเป็นต้องใช้ยาบางรายการที่ไม่มีสำรองไว้ในห้องพยาบาล ก็จะมีการจัดส่งทางไปรษณีย์ไปให้ที่บ้านด้วย” รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 กล่าว

 

“ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน” แห่งแรกใน กทม. ที่รร.สวนกุหลาบฯ

 

ทั้งนี้ ทพ.อรรถพลกล่าวว่า นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่”  สปสช. ได้ดำเนินการเพิ่มเติมหน่วยบริการนวัตกรรมในระดับปฐมภูมิ 7 ประเภท ทั้งคลินิกเอกชน และร้านยาคุณภาพ เข้าร่วมให้บริการ ทำให้เกิดความครอบคลุมและประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้านได้อย่างสะดวกมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการให้บริการไม่ได้มีเพียงการที่ผู้ป่วยเดินทางไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเท่านั้น ในการดำเนินการโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สปสช. ได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น เช่น การเตรียมเปิดหน่วยบริการในปั้มน้ำมัน ในห้างสรรพสินค้า หรือในคอนโดมิเนียม