posttoday

สธ. ของบกลางเพิ่ม 5 พันล้าน คงอัตราจ่ายงบผู้ป่วยในแก่โรงพยาบาลเท่าเดิม!

21 กันยายน 2567

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผย สปสช. ของบกลางเพิ่ม 5,924 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหางบผู้ป่วยใน สปสช. โดยคงอัตราการจ่ายเดิมที่ 8,350 บาทต่อหน่วย เตรียมประชุมบอร์ด สปสช. 23 ก.ย.นี้ เพื่อปรับประกาศอัตราจ่ายให้เท่าเดิม

วันนี้ (21 กันยายน 2567) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องอัตราและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผลกระทบที่มีต่อโรงพยาบาลทุกระดับนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีความเข้าใจและให้ความสำคัญ รวมทั้งได้เข้ามาแก้ปัญหาการจัดการกองทุน สปสช. เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ รองรับการเข้าถึงและการให้บริการประชาชนที่มีมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ระบบการจัดการและการใช้งบกองทุนแบบเดิมที่ใช้มา 22 ปี ไม่สามารถตอบสนองสถานการณ์ รวมถึงนโยบายต่อยอด 30 บาทรักษาทุกที่ได้ จึงต้องคำนึงถึงการสร้างระบบให้มีความสมดุล ยั่งยืน มีธรรมภิบาล และโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งแม้ท่านรัฐมนตรีเพิ่งจะเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน แต่ก็มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นแล้ว โดยของบกลางเพิ่ม 5,924 ล้านบาท เพื่อให้สามารถคงอัตราการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในได้เท่าเดิมที่ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วย (adjRW) เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างราบรื่น ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

 

“ในการประชุมบอร์ด สปสช.วันที่ 23 กันยายน 2567 ท่านรัฐมนตรีในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ก็จะประชุมเพื่อขยับอัตราการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน จากที่ก่อนหน้านี้ สปสช.มีการประกาศเหลือ 7 พันบาทต่อหน่วยให้กลับมาเท่าเดิมด้วย” นพ.สุรโชคกล่าว

 

นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไป ได้แก่ ระยะกลาง แม้งบผู้ป่วยในในปีงบประมาณ 2568 จะได้รับอนุมัติงบเพิ่มขึ้นประมาณ 16% น่าจะทำให้อัตราจ่ายค่าบริการต่อหน่วยเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องของการบริหารจัดการงบกองทุน สปสช. ปีงบประมาณ 2568 ก็จะขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมตามกฎหมาย เพื่อให้บอร์ด สปสช. และอนุกรรมการชุดต่างๆ สามารถดำเนินการได้คล่องตัว ลดความขัดแย้งระหว่างผู้จ่ายเงิน ผู้ให้บริการและประชาชนผู้ใช้บริการในสิทธิที่เหมาะสม ตรวจสอบได้ ส่วนในระยะยาวจะดำเนินการจัดระบบบริหารกองทุนให้มีความยั่งยืน สมดุล และมีธรรมาภิบาล สอดคล้องตามบริบทของสังคมไทย