posttoday

กาง 'ดิจิทัลวอร์รูม' เตือนภัยพิบัติของจุฬาฯ รู้เสี่ยงท่วม ดินถล่ม ควรอพยพ!

10 ตุลาคม 2567

เจาะมิติใหม่การเตือนภัยพิบัติแห่งชาติของไทย เมื่อจุฬาฯ ตั้ง 'ดิจิทัลวอร์รูม' คาดการณ์ได้ว่าตรงไหนเป็นร่องน้ำเสี่ยงท่วม ตรงไหนดินถล่ม หลุมยุบ พร้อมแจงเส้นทางอพยพ ทั่วไทย ย้ำมีความแม่นยำสูง พร้อมร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อผนึกกำลังยกระดับการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.2567)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาฯ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ ที่นำองค์ความรู้ทางวิชาการในการป้องกันและแก้ปัญหาภัยพิบัติมาแก้ปัญหาให้กับสังคมไทย

องค์ความรู้ที่นำมาใช้นี้เป็นการผนวกองค์ความรู้ด้านธรณีวิทยา ร่วมกับระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ และความร่วมมือกับคนในชุมชนทั่วประเทศไทย เพื่อจัดตั้ง แพลทฟอร์มดิจิทัลวอร์รูมในครั้งนี้ ซึ่งทางจุฬาฯ หวังว่าจะช่วยลดการสูญเสียจากภัยพิบัติที่ป้องกันได้มากขึ้น

 

หน้าหลักของแพลตฟอร์ม

 

แนวคิดและวิธีการทำงานของแพลตฟอร์ม

แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room  มีจุดเด่นที่ได้นำเอาองค์ความรู้ด้านธรณีวิทยา และสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ มาสร้างเป็นพื้นที่ซึ่งมีความละเอียดและแม่นยำสูง ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนเพียง 30 เมตรจากจุดที่อาศัยอยู่ โดยแผนที่ดังกล่าวเป็นแผนที่ที่ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์​จุฬาฯ ได้จัดทำขึ้น โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลภูมิประเทศ ภาพถ่ายดาวเทียม เทคนิคภูมิสารสนเทศ

 

ปัจจุบันได้มี ข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศไทย แยกเป็นรายจังหวัด โดยอาจารย์สันติ ได้อธิบายไว้ว่า ชุดข้อมูลได้ครอบคลุม เช่น

1. แนวร่องน้ำ ซึ่งโดยเวลาปกติแนวร่องน้ำนี้จะไม่มีน้ำ จึงทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าตนเองได้สร้างบ้านหรือมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในแนวนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม หรือน้ำหลาก น้ำจะไหลมาตามแนวร่องน้ำนี้

 

ร่องน้ำ

 

2. แนวสันเนิน  ซึ่งเป็นแนวที่น้ำจะไหลออกจากบริเวณดังกล่าว เหมาะกับการตั้งถิ่นฐาน

3. จุดเสี่ยงถนนขาด

4. จุดแนวอพยพ ซึ่งมีการกำกับระดับความสูง เป็นจุดที่ปลอดภัยในการอพยพ

 

จุดปลอดภัย เหมาะแก่การอพยพ

 

5. จุดรูรั่วจากภูเขา ซึ่งจะรอแค่ฝนตกในภูเขามากๆ และจะฉีดน้ำออกมาจากภูเขาเช่นเดียวกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยแผนที่นี้สามารถชี้จุดหมู่บ้านอ่อนไหวได้

6. ข้อมูลคันดินแตกและน้ำจะไหลไปทางไหน ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ

อาจารย์สันติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอนาคตแผนที่ดังกล่าวจะครอบคลุมทุกภัยพิบัติ เช่น กรณีแผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อค สึนามิ หลุมยุบ หรือเส้นทางอพยพหากเกิดสึนามิ เป็นต้น

 

แผนที่แสดงจุดเสี่ยง

 

ด้าน ศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึงระบบบริหารจัดการต่อเนื่องจากการสร้างแผนที่ทางภูมิสารสนเทศดังกล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้จะคาดการณ์สถานการณ์เกือบจะเรียลไทม์ โดยสถานการณ์ปกติประชาชนจะสามารถเข้าไปศึกษาพื้นที่ของตนเองเพิ่มเติมจากแผนที่เพื่อวางแนวทางป้องกัน หากเกิดเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ของตน แต่ถ้าหากระหว่างการเกิดภัยพิบัติจะมีการแจ้งเตือนจากในพื้นที่โดยขึ้นเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นการรายงานจากเครือข่ายในพื้นที่ชุมชน และห้องวอร์รูมจะเปิดขึ้น เพื่อขอข้อมูลทั้งลักษณะของพื้นที่ เส้นทางอพยพ การแจ้งเตือนภัย และส่งขอความช่วยเหลือด้านอาหาร พลังงานต่างๆ ในจุดที่ต้องการจริงๆ

อาจารย์ใจทิพย์กล่าวว่า แม้ว่าแผนที่จะเป็นส่วนสำคัญ แต่แพลตฟอร์มดังกล่าวยังอาศัยพลังของ 'คน' ในชุมชนเป็นองค์ประกอบสำคัญ 

 

เนื่องจากเมื่อเกิดภัยพิบัติ จะพบปัญหาที่สำคัญคือ หลายคนแม้จะรับรู้ข้อมูลแต่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะย้ายออกจากพื้นที่หรือไม่ หรือบางคนไม่สามารถเข้าถึงมือถือหรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้

 

การที่แพลทฟอร์มนี้สามารถเชื่อมโยงกับผู้นำและคนในชุมชนทั่วประเทศที่มีจำนวนมากได้นั้น จะมีประโยชน์มาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่มักจะเชื่อผู้นำในชุมชนหรือเพื่อนบ้านมากกว่า นอกจากนี้ในเรื่องของทรัพยากรเช่น อาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภค บางจุดมีการนำไปวางจนล้นกว่าที่ต้องการ ซึ่งเป็นการเสียทรัพยากร การที่มีห้องวอร์รูมซึ่งทำให้คนในพื้นที่สามารถร้องขอสิ่งของบริจาคได้โดยตรง จะเป็นประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ ได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายปี จากโครงการอื่นๆ ซึ่งทำให้ปัจจุบันจุฬาฯ มีเครือข่ายในชุมชนทั่วประเทศไทย ที่พร้อมจะเสริมการทำงานให้แก่ ดิจิทัลวอร์รูมนี้ อีกทั้งยังมีแผนที่จะสอนองค์ความรู้ด้านการอ่านแผนที่ให้แก่บุคคลในชุมชน เพื่อที่จะได้มีองค์ความรู้ต่างๆ ติดตัวด้วย

 

อย่างไรก็ตามในกรณีของน้ำท่วมที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา  แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถแสดงแผนที่ในฝั่งเมียนมาได้ด้วย และครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญว่าภัยพิบัติต่างๆ จะต้องมีการวิเคราะห์พื้นที่พื้นบ้านหรือชายแดนที่ติดกับประเทศไทย เนื่องจากมีผลกระทบต่อเนื่องกัน  โดยทางจุฬาฯ กำลังวางแผนที่จะจัดประชุมร่วมกันประเทศอื่นๆ ในระดับนานาชาติ เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้เข้าไปจัดการกับปัญหาร่วมกันในอนาคตอันใกล้

 

4 ด้านแผนจัดการภัยพิบัติครบวงจร อนาคตของแพลทฟอร์มดิจิทัลวอร์รูม ของจุฬาฯ

รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ผู้รักษาการรองอธิการบดี จุฬาฯ เปิดเผยว่า เพื่อลดความสูญเสียที่ป้องกันได้จากภัยพิบัติ ทางจุฬาฯ เล็งเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลวอร์รูมนี้ โดยเบื้องต้นเริ่มที่การเตือนภัยก่อนเกิดภัยพิบัติ และ ขณะเกิดภัยพิบัติ อย่างไรก็ตามจุฬาฯ ยังออกแบบแนวทางบริหารจัดการภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ได้แก่

1. ก่อนเกิดภัย  ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วจากแพลตฟอร์ม ดิจิทัลวอร์รูมนี้  โดยแจ้งเตือนภัยพื้นที่อ่อนไหว จากการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ โดยมีลักษณะการบอกที่ 'เฉพาะเจาะจง'  ซึ่งเป็นการเติมเต็มระบบการเตือนภัยของประเทศไทย ที่ยัง 'ขาดอยู่' ในตอนนี้ได้อย่างดี

2. ระหว่างเกิดภัย ระบบที่สามารถระบุการขอความช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากที่ผ่านมามักจะอาศัยความบังเอิญ เช่น การขอความช่วยเหลือทางโซเชียลมีเดีย หรือการโทรศัพท์ ซึ่งมีความยากลำบาก ฉะนั้นควรจัดการอย่างเป็นระบบ และแม่นยำมากขึ้น รวมไปถึงการชี้แนะจุดอพยพได้ เพราะเนื่องจากเมื่อเกิดภัยพิบัติคนจะเกิดความวิตกกังวล และไม่รู้สภาพพื้นที่ว่าควรจะหนีไปจุดใด หรือวางจุดอพยพที่ใด 

นอกจากนี้ยังต้องสามารถใช้ทรัพยากรในการช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่ใช่การระดมทรัพยากรไปในจุดใดจุดหนึ่งจนเกินความจำเป็น และต้องเข้าถึงทันท่วงทีตรงกับความต้องการ

3.การฟื้นฟูหลังเกิดภัย  ทั้งทางด้านการฟื้นฟูจิตใจและฟื้นฟูด้านกายภาพ  การประกอบอาชีพ จะมีวิธีการจัดการอย่างไร รวมไปถึงการฟื้นฟูบ้าน โครงสร้างอาคาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จุฬาฯ ล้วนมีองค์ความรู้ทั้งหมด

4. ถอดบทเรียนเมื่อยามสงบ ประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้และรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ปรับวิถีความเป็นอยู่ และจัดการกับการอยู่ร่วมกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น

 

ยุคของการอยู่ร่วมกับภัยพิบัติ โดยลดความสูญเสีย

มีประเด็นหนึ่งที่นักข่าวได้สัมภาษณ์อาจารย์สันติ โดยถามถึงประเด็นที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่าโดยลักษณะพื้นที่ที่จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติดังกล่าว หากจะต้องมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อไม่ให้เจอภัยพิบัติจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด โดยอาจารย์สันติตอบว่า ตามข้อมูลต้องย้ายทั้งอำเภอ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย อย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเกาะและเสี่ยงต่อสึนามิและแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ก็ต้องย้ายออกทั้งเกาะ เพราะฉะนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาคือ ต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับภัยพิบัติน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด  โดยการเตือนภัยนั้นไม่ใช่มีไว้เพื่อให้ตระหนกหรือวิตกกังวล แต่มีไว้เพื่อตระหนัก และตั้งรับเมื่อเกิดภัยพิบัติมากกว่า

 

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าว พร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคองค์กรอื่นๆ เพื่อให้นวัตกรรมนี้จะได้ให้ประชาชนได้รู้ตัวและปฏิบัติตามอย่างทันท่วงที อีกทั้งหากรัฐมีนโยบายหรือแนวทางการอพยพที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ก็จะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้

 

สำหรับประชาชนที่ต้องการเข้าไปศึกษาแพลตฟอร์มสามารถเข้าได้ที่ LINK ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป