posttoday

"ขนมราคาแพง" เครื่องแสดงอำนาจทางเศรษฐกิจของคน Gen Z ในยุคเศรษฐกิจผันผวน

21 ตุลาคม 2567

ในยุคที่ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อสูงลิ่ว "ขนมราคาแพง" กลายเป็นเครื่องแสดงอำนาจทางเศรษฐกิจและยกระดับภาพลักษณ์ของคน Gen Z แทนกระเป๋าแบรนด์เนมหรือรถยนต์หรูแบบที่เราเคยเห็นจนชินตา

คนรุ่นใหม่โหยหา “ขนมและอาหารราคาแพง” มากขึ้นเรื่อยๆ โดยผลสำรวจของ McKinsey ในเดือนกุมภาพันธ์พบว่า คนกลุ่ม Gen Z และมิลเลนเนียลใช้จ่ายไปกับค่าอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตมากที่สุด ซึ่งต่างจากในปี 2017 ที่มักเป็นกลุ่ม Gen X และ Baby Boomer 

ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่ม Gen Z มักใช้จ่ายไปกับขนมและอาหารที่มีความพรีเมียมและราคาแพงมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ

\"ขนมราคาแพง\" เครื่องแสดงอำนาจทางเศรษฐกิจของคน Gen Z ในยุคเศรษฐกิจผันผวน

ทำไม Gen Z ยอมจ่ายแพง?

ปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวเป็นที่น่าแปลกใจจนทั่วโลกจับตา เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพและราคาอาหารทั่วโลกต่างสูงขึ้น คนบางส่วนจำเป็นต้องอดมื้อกินมื้อเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายไว้ใช้ในอนาคต ขณะที่คนกลุ่ม Gen Z เลือกที่จะใช้จ่ายไปกับอาหารเพื่อสุขภาพและขนมราคาแพง ซึ่งพวกเขาให้ความเห็นว่า แม้การใช้จ่ายไปกับสิ่งเหล่านี้อาจดูฟุ่มเฟือยแต่ก็ยังถูกกว่าการซื้อกระเป๋าราคาหลักหมื่น

ขนมราคาแพง กลายเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม

ในเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจได้คุกคามโลกยุคปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ การซื้อบ้านหรือรถสักคันจึงกลายเป็นสิ่งเกินเอื้อมสำหรับคนรุ่นใหม่ Gen Z จึงหันมาใช้จ่ายกับสิ่งฟุ่มเฟือยในราคาพอจับต้องได้ เช่น ลิปสติกแบรนด์เนมสักแท่ง หรือ ขนมราคาแพงที่กำลังอยู่ในกระแสอย่างช็อคโกแล็ตดูไบที่ราคาราว 500 บาท ซึ่งเป็นรูปแบบของความหรูหราที่สามารถจับต้องได้ หรือจะเรียกได้ว่าใช้เงินซื้อความสุขในปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก

\"ขนมราคาแพง\" เครื่องแสดงอำนาจทางเศรษฐกิจของคน Gen Z ในยุคเศรษฐกิจผันผวน

แบรนด์ปรับตัวตามเทรนด์

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่อาหารไม่ใช่แค่ปัจจัยพื้นฐาน แต่เป็นประสบการณ์แห่งความหรูหรา แต่แน่นอนว่า Gen Z ไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่เลือกอาหารให้เป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม โดยบทความจาก New York Times ในปี 1986 ที่มีชื่อว่า "Pure Food: The Status Symbol of the Decade" ได้ระบุว่า "อาหารที่คุณซื้อเป็นภาพสะท้อนสถานะทางสังคม เป็นวิธีในการยกระดับภาพลักษณ์ของตัวเอง การชุบตัวทางสังคม” เพียงแค่คนกลุ่ม Gen Z กำลังยกระดับเรื่องนี้ให้ก้าวไปอีกขึ้น

โซเชียลมีเดียถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กระแสการใช้จ่ายขนมราคาแพงกลายเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม เนื่องจากในยุคก่อนโซเชียล การอวดความหรูหราด้านอาหารมักจำกัดอยู่แค่ในงานปาร์ตี้ดินเนอร์เล็กๆเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ในยุคที่โซเชียลเบ่งบาน การถ่ายคลิปรีวิวอาหารและขนมราคาแพงกลายเป็นคอนเทนต์เรียกยอดที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้นับล้าน จนส่งผลให้แบรนด์ต่างๆเริ่มปรับตัวตามเทรนด์นี้ผ่านการจ้างคนดังและอินฟลูเอนเซอร์

\"ขนมราคาแพง\" เครื่องแสดงอำนาจทางเศรษฐกิจของคน Gen Z ในยุคเศรษฐกิจผันผวน

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากรู้สึกกดดันให้ตามเทรนด์การบริโภคอาหารราคาแพงเพื่อให้ได้การยอมรับจากสังคมในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกแบ่งชนชั้นผ่านการบริโภค เพิ่มช่องว่างระหว่างผู้ที่มีกำลังซื้อและไม่มี รวมถึงกีดกันผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารราคาแพงได้