posttoday

คนไทยเจ๋ง! ใช้เลเซอร์แกะสลักฉัตรได้แล้ว

24 ตุลาคม 2567

ฉัตร ถือเป็นงานศิลปกรรมที่ละเอียดลออ อาศัยช่างฝีมือชั้นครูพร้อมระยะเวลาในการผลิตแต่ละคันอยู่หลายเดือน แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อเลเซอร์จะช่วยให้เราแกะสลักฉัตรเสร็จในไม่กี่วัน

เมื่อพูดถึงฉัตรสิ่งแรกที่ทุกคนนึกย่อมเป็นร่มที่มีลวดลายวิจิตรซ้อนทับกันเป็นชั้น ถือเป็นเครื่องหมายแสดงความสำคัญของบุคคลหรือพิธีกรรมที่ใช้ในการประกอบ แต่ด้วยความวิจิตรซับซ้อนนี้เองการผลิตฉัตรแต่ละคันจึงใช้เวลามาก ตรงข้ามกับช่างฝีมือที่มีจำนวนน้อยลงทุกวัน

 

          นี่จึงเป็นเหตุผลในการริเริ่มนำเทคโนโลยีเลเซอร์พลังงานสูงมาส่งเสริมการผลิตฉัตรให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

คนไทยเจ๋ง! ใช้เลเซอร์แกะสลักฉัตรได้แล้ว

 

เลเซอร์ที่ช่วยเร่งระยะเวลาการผลิตฉัตร

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยร่วมหลายสถาบันในประเทศไทย กับแนวคิดในการนำเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ เลเซอร์กำลังสูงมาสนับสนุนการแกะสลักลวดลายบนแผ่นโลหะ ช่วยให้สามารถทำการซ่อมแซมไปจนผลิตฉัตรคันใหม่ขึ้นมาได้ง่ายและรวดเร็ว ย่นระยะเวลาในการผลิตหลายเดือนให้เหลือเพียงไม่กี่วัน

 

          กลไกการทำงานของพวกเขาจะอาศัยประโยชน์จากหัวฉีดเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ โดยอาศัยเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่น 10.6 ไมโครเมตร พร้อมสัญญาณพัลส์ 5 กิโลเฮิรตซ์ ถือเป็นเลเซอร์กำลังสูงที่มีคุณสมบัติในการตัดผ่านแผ่นโลหะระดับความหนา 2 มิลลิเมตร จึงเหมาะสำหรับการนำมาใช้แกะสลักฉัตร

 

          ขั้นตอนการใช้งานของพวกเขาเริ่มจากการนำเอารูปแบบศิลปะที่กำหนด มาถ่ายโอนลงเป็นไฟล์ดิจิทัลและป้อนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมเลเซอร์ จากนั้นจึงทำการรีดแผ่นเหล็กที่ตัดแล้วให้เป็นทรงกระบอกในแบบและขนาดเดียวกับที่ใช้ในการทำฉัตร แล้วจึงเริ่มออกคำสั่งให้เลเซอร์ตัดโลหะออกเป็นรูปทรงที่กำหนด

 

          ทางทีมวิจัยได้นำเลเซอร์ของพวกเขามาใช้ในการทดสอบ โดยทำการบูรณะยอดฉัตรบนเจดีย์วัดธาตุทองที่เกิดความเสียหาย พบว่าเลเซอร์สามารถแกะสลักลวดลายลงบนแผ่นอะลูมิเนียมได้ตามที่กำหนด โดยฉัตรแต่ละคันจะใช้เวลาผลิตเพียง 113 ชั่วโมง หรือราว 5 วัน ในขณะที่การแกะสลักฉัตรตามปกติต้องอาศัยเวลาราว 3 – 6 เดือน

 

          นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยย่นระยะเวลาในการซ่อมแซมฉัตรแต่ละคันที่เสียหายให้รวดเร็วและสะดวกกว่าเดิมมาก

 

คนไทยเจ๋ง! ใช้เลเซอร์แกะสลักฉัตรได้แล้ว

 

อนาคตแห่งการแกะสลักฉัตรในไทย

 

          สำหรับท่านที่เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงมีแนวคิดในการใช้เลเซอร์เข้ามาทดแทนแรงงาน สาเหตุสำคัญมาจากการขาดแคลนช่างฝีมือการทำฉัตร เนื่องจากฉัตรแต่ละคันต้องเริ่มจากการออกแบบและวาดลวดลายลงกระดาษ แกะสลักลวดลายลงบนแผ่นโลหะ เจาะโลหะให้ได้ตามลวดลายที่วาดไว้ แล้วขัดให้เงางาม นับเป็นกระบวนการที่กินเวลานานหลายเดือน

 

          การเป็นช่างฝีมือที่สามารถผลิตฉัตรได้ก็ต้องได้รับการเรียนการสอนเฉพาะทาง และใช้เวลาฝึกปรือให้เกิดความชำนาญอีกหลายปี ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ประกอบกับฉัตรถือเป็นศิลปกรรมโบราณที่คนรุ่นใหม่ขาดความสนใจ จึงไม่มีแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบ นำไปสู่ปัญหาขาดแคลนช่างฝีมือในที่สุด

 

          สิ่งนี้สวนทางกับความต้องการช่างฝีมือผลิตฉัตรที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีมีฉัตรที่ต้องได้รับการทำนุบำรุงจากวัดทั่วประเทศราวปีละ 50 คัน, การสร้างวัดใหม่, งานพิธีทางศาสนา ไปจนงานพระราชพิธีต่างๆ ล้วนต้องอาศัยช่างฝีมือที่มีความรู้ความชำนาญในการผลิตฉัตรรองรับทั้งสิ้น

 

          นี่เป็นเหตุผลให้ทีมวิจัยนำเอาเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาใช้ในการผลิต โดยอาศัยเลเซอร์เชิงพาณิชย์ที่มีคุณสมบัติรองรับการตัดโลหะโดยเฉพาะ เพราะเลเซอร์กำลังสูงโดดเด่นด้านการตัดในพื้นที่แคบ ตัดได้เรียบเนียน และรองรับการใช้งานร่วมกับรูปทรงซับซ้อน จึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการนำมาผลิตฉัตร

 

          อย่างไรก็ตามฉัตรที่เกิดจากเลเซอร์นี้จะไม่ได้มีวัสดุหลักจากทองเหลือง เนื่องจากทองแดงที่เป็นส่วนผสมหลักมีค่าการสะท้อนแสงสูงจึงไม่สามารถใช้งานร่วมกับเลเซอร์ จึงมีการเปลี่ยนวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตเป็นสแตนเลส แล้วจึงทำการเคลือบไททาเนียมไนไตรด์ลงบนพื้นผิวโลหะเพื่อให้ได้สีเหมือนทองเหลืองแทน

 

          นี่จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยทุ่นแรงในการผลิตฉัตร พร้อมช่วยสืบสานให้ศิลปกรรมเก่าแก่ของไทยให้คงอยู่ต่อไป

 

 

 

 

          สำหรับท่านที่สนใจเทคโนโลยีเลเซอร์แกะสลักฉัตรนี้ รายละเอียดทางเทคนิคในงานวิจัยนี้ได้รับการเปิดเผยอย่างละเอียด ตั้งแต่ค่าเลเซอร์ที่ใช้งาน ระบบสุญญากาศ ระบบไฟฟ้า สารเคลือบที่ใช้ร่วม ไปจนรายละเอียดในการผลิตแต่ละชิ้นส่วน เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.optica-opn.org/home/newsroom/2024/september/laser_technology_aids_thai_tradition/

 

          https://publishing.aip.org/publications/latest-content/lasers-provide-boon-for-manufacturing-of-ceremonial-thai-umbrellas/

 

          https://www.eurekalert.org/news-releases/1058693

 

          https://pubs.aip.org/lia/jla/article-abstract/36/4/042019/3313770/Laser-applications-in-arts-and-culture-An-example?redirectedFrom=fulltext