posttoday

วิกฤตศรัทธา ถาม! 'ประกันสังคม' 1.4 แสนล้านยังไงต่อ?

25 ตุลาคม 2567

อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จี้งบประมาณของประกันสังคมที่เหลือจาก 4 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร) ในแต่ละปีสามารถก่อประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่านี้ หลังมีงบเหลือจากกองทุนเหยียบ 1.4 แสนล้าน! ซึ่งเท่ากับประชาชนไม่ต้องจ่าย 1.5% ของจำนวนเงินสมทบได้หลายปี!

ประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นประชาชนคนไทยคับข้องใจและคงอยากจะตั้งคำถามกับ ‘ประกันสังคม’  คือสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขนั้นเพียงพอหรือ? แล้วทำไมก่อให้เกิดความกังวลถึงความไม่มั่นคงของหลักประกันสุขภาพที่รัฐมอบให้ได้มากขนาดนี้ จนกระทบกับคุณภาพชีวิตของตนเอง!

แน่นอนว่า ช่วงที่ผ่านมาประเด็นร้อนแรงที่ทำให้ รมว.กระทรวงแรงงานต้องออกมาชี้แจง คือประเด็นที่โรงพยาบาลเอกชน จ่อจะออกจากระบบประกันสังคม หลังจากที่มีการลดเงินสนับสนุนในหมวดโรคค่าใช้จ่ายสูงจนทางโรงพยาบาลมองว่าไม่เหมาะสม ... สิ่งนี้ได้รับการยืนยันจากระทรวงภายหลังว่าจะมีการแก้ปัญหา และพยายามจะคงอัตราเดิมไว้

เช่นเดียวกับเมื่อวานนี้ที่มีแนวคิดว่าประกันสังคมอาจจะนำเงินไปซื้อประกันชีวิตของบริษัทเอกชน  เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนเพิ่มเติมเป็นแบบเหมาจ่ายให้บริษัทประกันฯแล้วให้บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบการดูแลรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน เพื่อให้ประกันสังคมสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นแบบ Fix Cost และทำให้การบริหารง่ายขึ้น! ไปจนถึงการเพิ่มผลตอบแทนด้วยการลงทุนในต่างประเทศ และการดึงแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ ม.33 เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มเงินในกองทุนให้ได้

เนื่องจากภาระยิ่งใหญ่ที่ทางสำนักงานต้องเจอแน่ๆ คือ ‘ปัญหาจากสังคมสูงวัย’ ที่จะสร้างภาระพึ่งพิงและใช้งบประมาณมากขึ้น จนมีการคาดการณ์จากหลายสำนักว่าอาจะมีภาวะ ‘เงินหมด’ ในปี 2597 และประกันสังคมต้อง ‘จัดการ’ วิกฤตครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญ บางรายมองว่าคงไม่มีกองทุนไหนที่จะมองให้กองทุนของตนเจ๊ง! ทั้งๆ ที่เห็นปัญหาล่วงหน้ากว่า 20 ปี

 

และเมื่อเหลือบดูงบประมาณคงเหลือทุกวันนี้ของกองทุนที่มีเงินสะสมมากกว่า 2.6 ล้านล้านบาท! ก็ตอกย้ำว่ากองทุนยังคงพอมีเวลาหายใจและแก้ปัญหา ไม่ใช่จะล้มละลาย หากมีการบริหารจัดการที่ดีกว่าเดิม!

 

โพสต์ทูเดย์ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายแพทย์พงษ์พัฒน์  ปธานวนิช อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งคลุกคลีอยู่กับสิทธิประโยชน์อย่าง ‘ประกันสังคม’ ในส่วนของหมวดค่ารักษาพยาบาล ซึ่งชี้ให้เราได้เห็นข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

 

“ ในกองทุนประกันสังคมมีทั้งหมด 3 กองใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ กองที่เรียกว่า 4 กรณี คือ รักษาพยาบาล ทุพพลภาพ เสียชีวิต และคลอดบุตร เป็นกองทุนที่ใช้จ่ายปีต่อปี ที่เก็บเงินจากเรา 1.5% นายจ้าง 1.5% และรัฐบาลต้องออกสมทบอีก 1.5% "

 

1.5% คือตัวเลขเมื่อพูดถึงสัดส่วนของการเก็บเงินประกันสังคมซึ่งจะเก็บ 5% ของเงินเดือน โดยแบ่งเป็น 1.5% จะใช้ดูแล 4 กรณี 0.5% ประกันการว่างงาน และ 3% เงินสงเคราะห์บุตรและเงินออมยามเกษียณ หากคิดที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท เท่ากับว่าในแต่ละเดือน เราจะส่งเงินเข้าระบบ 225 บาทสำหรับดูแลเรื่อง 4 กรณี 75 บาทสำหรับประกันการว่างงานและถูกเลิกจ้าง และ 450 บาทสำหรับเงินสงเคราะห์บุตรและเงินออมยามเกษียณ

 

ในกรณี 4 กรณีเงิน 225 บาทจะถูกสมทบด้วยเงินจากนายจ้างอีก 225 บาทและเงินภาครัฐอีก 225 บาท เท่ากับว่าจะมีเงินของ 4 กรณีซึ่งรวมค่ารักษาพยาบาลแล้วกว่า 675 บาทต่อเดือน หรือ 8,100 บาทต่อปี เมื่อคูณกับจำนวนผู้ประกันตน คิดเฉพาะแค่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งมีราว 11.8 ล้านคน เท่ากับว่าในปีหนึ่งประกันสังคมจะมีเงินไว้บริหารจัดการในหมวดนี้ราว 9 หมื่น 5 พันล้าน  ไม่นับรวมผู้ประกันตนมาตรา 39 อีก 1.7 ล้านคน และผู้ประกันตนมาตรา 40 อีก 10 ล้านคน ซึ่งอาจมีเงินสมทบที่ต่างออกไป

 

“ แต่เค้าจ่ายให้โรงพยาบาลแบบเหมาจ่ายประมาณไม่ถึง 2,000 บาท บวกภาระเสี่ยงก็ไม่ถึง 3,000 บาท แสดงว่าที่เหลืออีกราว 5,000 อยู่ตรงไหน ก็จะต้องไปอยู่ตรงคลอดบุตร ซึ่งถามว่าคลอดเยอะหรือไม่ ทุพพลภาพชั่วคราวและถาวร หรือเสียชีวิตจะเยอะมากน้อยเท่าไหร่” นายแพทย์พงษ์พัฒน์อธิบายเพิ่มเติม

 

โพสต์ทูเดย์พบข้อมูล ผลการดำเนินการกองทุนประกันสังคม ไตรมาส 1 ปี 2567 ระบุรายละเอียดผู้ประกันตนที่ใช้บริการและงบประมาณที่ใช้ในไตรมาส 1 ปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) ไว้ว่า

  1. กรณีเจ็บป่วย ราว  10,303,029 ราย   จำนวนเงิน 11,856 ล้านบาท
  2. กรณีคลอดบุตร ราว    52,819 คน      จำนวนเงิน  1,450 ล้านบาท
  3. กรณีทุพพลภาพ ราว   20,662 คน      จำนวนเงิน  287 ล้านบาท
  4. กรณีเสียชีวิต ราว       8,625 คน         จำนวนเงิน 705 ล้านบาท

 

 

 

  • เปรียบเทียบงบประมาณของกองทุนในส่วน 4 กรณีก่อน-หลังโควิด 19

โพสต์ทูเดย์เปรียบเทียบในส่วนของสิทธิประโยชน์ 4 กรณีนี้ พบว่าในปี 2565  ได้ใช้เงินจากกองทุนราว 107,754  ล้านบาท ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีสถานการณ์พิเศษของโควิด-19  แต่หากย้อนดูก่อนหน้าการเกิดโควิดในปี 2562 สิทธิประโยชน์ส่วนนี้จะใช้เป็นจำนวนเงินราว 60,593 ล้านบาท  และในปี 2563 จำนวนเงินราว 65,281 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในปี 2565 ไม่สูงเทียบเท่ากับในปี 2562

 

โดยในปี 2565 มีตัวเลขผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาราว 36 ล้านรายต่อปี ขณะที่ในปี 2562 มีตัวเลขผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาถึง 45 ล้านรายต่อปี 

ในขณะที่ตัวเลขของจำนวนผู้คลอดบุตรในปี 2565 อยู่ที่ราว 236,000 คน ในปี 2562 อยู่ที่ราว 291,000 คน 

สวนทางกับผู้ป่วยกลุ่มทุพพลภาพ ที่ในปี 65 เพิ่มขึ้นกว่าปี 62 ราว 30,000 คน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน

 

จากตัวเลขทั้งหมด งบใน 4 กรณีในปี 2565  ถูกใช้ไปราว 107,754  ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2562 ใช้อยู่ที่ 60,593 ล้านบาท ต่างกันราว 40,000 ล้านบาท

 

 

  • 2 แนวทางใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ - สร้างความยั่งยืนให้กองทุน

นายแพทย์พงพัฒน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในปี 2567  “สรุปแล้วทุกวันนี้เงินที่เหลือจาก 4 กรณีนี้มีเหลือสะสมราว 2 แสนล้านบาท”  ส่วนในเอกสารที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมมีถึงปี 2565 ระบุว่าเงินในกองทุนสะสมที่เหลือในส่วนนี้อยู่ที่ราว 146,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 38,425 ล้านบาท

 

วิกฤตศรัทธา ถาม! \'ประกันสังคม\' 1.4 แสนล้านยังไงต่อ?

 

“ กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ปีต่อปี คือเงินมาทุกปี เราสามารถใช้ให้หมดได้ หรือเหลือสำรองแค่ปีสองปี กองทุนส่วนนี้เหลือทุกปี ปีละกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท จนกระทั่งเงินสะสมอยู่ที่ 2 แสนล้าน .. ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นมาตลอด

และโดยตัวกฎหมายการใช้เงินในแต่ละกองทุนต้องมีความชัดเจน หากมีเงินเหลือวิธีการจัดการมีสองอย่างคือ หนึ่งเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน ต้องเยอะกว่า 30 บาท เพราะเงินที่ได้มาเป็นเงินของผู้ประกันตนเองส่วนหนึ่ง เราต้องทำจนกระทั่งคนที่อยู่ในประกันสังคมรู้สึกว่าอยากจ่ายเงินเพราะคุ้ม คนที่อยู่นอกกองทุนก็อยากที่จะย้ายเข้ามาในกองทุนนี้ กองทุนก็จะยิ่งมีความแข็งแรงและใหญ่ขึ้น

 

หรือวิธีที่สองถ้าไม่อยากพัฒนาให้ดีกว่านี้ก็คืนเงินไป ลดเหลือ 1% ก็ได้ เพราะสองแสนกว่าล้านเท่ากับไม่ต้องเก็บ 3 ปีก็ยังได้ แต่การไปลดจะมีความเสี่ยงมากกว่า”

 

สุดท้าย นายแพทย์พงษ์พัฒน์ได้พูดถึงประโยคที่เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการ ในยุคที่ทุกคนเรียกหาความยั่งยืน ‘ประกันสังคม’ ที่บอกว่าตนเองจะเป็นหลักประกันและความมั่นคงให้แก่ประชาชนคนไทย

 

“เขาต้องทำให้กองทุนยั่งยืน แต่ตอนนี้ยั่งยืนเพราะใช้กฎหมายบังคับ ความยั่งยืนที่แท้จริงต้องให้กองทุนนี้ได้รับความนิยมต่างหาก”

 

ปัญหาที่สำคัญกว่า  'เงินหมด'  จึงตกเป็นประเด็น ปัญหาความเชื่อใจของประชาชนต่อกองทุนซึ่งต่ำมากต่างหาก  ซึ่งเป็นประเด็นที่ประกันสังคมต้องแก้ไข เพราะชี้ถึงความโปร่งใสของการทำงานและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ เพราะหากแก้ได้ก็ยังสามารถมีช่องว่างที่จะหารายได้เข้ากองทุนเพิ่มเติมอย่างที่คาดหวัง!