posttoday

'ทรัมป์' ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี อาจส่งผลต่อสิทธิคนข้ามเพศในสหรัฐ!

11 พฤศจิกายน 2567

การชนะเลือกตั้งของ 'โดนัล ทรัมป์' สร้างความวิตกให้แก่ LGBTQIA+ ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ 'คนข้ามเพศ' เนื่องจากทรัมป์หาเสียงด้วยนโยบายกีดกันสิทธิคนข้ามเพศ โดยมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ของชาติ!

หลังจากที่ 'โดนัล ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในศึกชิงชัยที่ผ่านมา สำนักข่าว MSNBC รายงานว่าองค์กรที่สนับสนุนด้านสิทธิของเหล่า LGBTQIA+ ได้รับโทรศัพท์จำนวนมากจากสมาชิก อีกทั้ง The Trevor Project  องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตในช่วงวิกฤตแก่ชาว LGBTQIA+ รายงานว่ามีการติดต่อมายังบริการฉุกเฉินเพิ่มขึ้นเกือบ 700% ในวันที่ 6 พฤศจิกายน หนึ่งวันหลังการเลือกตั้ง โดยระบุว่าได้รับการติดต่อจากเยาวชน LGBTQIA+  และหนึ่งในสามของผู้ที่ติดต่อมาหลังการเลือกตั้งระบุว่าตนเป็นคนผิวดำ ชนพื้นเมือง หรือผู้มีเชื้อสายหลากหลาย

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากในช่วงสุดท้ายของการเลือกตั้ง 'โดนัล ทรัมป์' ได้ชูนโยบายต่อต้านสิทธิของคนข้ามเพศเป็นจุดสำคัญ เพื่อโจมตีนโยบายของคู่แข่งอย่าง 'กมลา แฮร์ริส' ที่สนับสนุนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ  ทาง Ad Impact เคยรายงานว่าพรรครีพับลิกันของทรัมป์ใช้เงินเกือบ 215 ล้านดอลลาร์ไปกับโฆษณาต่อต้านคนข้ามเพศในรอบการเลือกตั้งนี้อีกด้วย

 

การใช้คำพูดรุนแรงของทรัมป์ที่มุ่งเป้าต่อต้านชาว LGBTQ+ โดยเฉพาะคนข้ามเพศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก ทรัมป์ได้เสนอนโยบายหลายประการที่พยายามยกเลิกการคุ้มครองชาว LGBTQIA+ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกันนโยบายเหล่านั้นถูกระบุไว้ใน 'Agenda 47' หรือแผนของทรัมป์ที่จะกลับมาทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง  ซึ่งมีการคาดการณ์จากสื่อต่างประเทศว่าการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งของทรัมป์ จะส่งผลต่อสิทธิของ LGBTQIA+ ในหลายด้านเริ่มต้นจาก

 การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์อาจนำไปสู่การแต่งตั้งผู้พิพากษาในแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การตีความกฎหมายในระดับรัฐบาลกลางเปลี่ยนไป 

และ ทรัมป์ อาจพยายามยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIA+ รวมไปถึงการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิของ LGBTQIA+ โดยตรงเพื่อสนับสนุนการมีครอบครัวแบบดั้งเดิมคือ ชาย-หญิง

 

  • ต่อต้านการยืนยันเพศตามเจตนารมณ์ของตนเอง ไปจนถึงการห้ามสมรสเท่าเทียม

แม้ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดถึงนโยบายที่จะถูกประกาศออกมาหลังทรัมป์เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ประเด็นหาเสียงหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2022 -2023 คือการต่อต้านการยืนยันเพศของเยาวชน โดยทรัมป์ยืนยันในการเลือกตั้งว่าหากเขาได้รับการคัดเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาจะลงโทษแพทย์ที่ให้การดูแลยืนยันเพศแก่เยาวชน รวมถึงกำหนดบทลงโทษต่อครูที่พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนักเรียน 

นอกจากนี้โรงพยาบาลที่ให้การบริการอาจถูกตัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ รวมไปถึงการขอให้สภาคองเกรสออกกฎหมายรับรองเพียงสองเพศ คือ เพศชายและเพศหญิง ที่กำหนดตั้งแต่กำเนิดเท่านั้น รวมไปถึงในโรงเรียนก็จะถูกตัดเงินทุนจากรัฐบาลกลางหากมีการพูดถึง 'อุดมการณ์ทางเพศ' เช่นกัน

นอกจากนี้ วุฒิสมาชิกเจดี แวนซ์ พันธมิตรใกล้ชิดของทรัมป์ และสนับสนุนนโยบายของทรัมป์ ได้เสนอร่างกฎหมายในปี 2023 ที่จะห้ามเยาวชนเข้าถึงการดูแลยืนยันเพศ รวมถึงร่างกฎหมายที่ห้ามกระทรวงการต่างประเทศใช้เครื่องหมาย "X" ในหนังสือเดินทางเพื่อระบุเพศ และในช่วงหาเสียงเลือกตั้งวุฒิสภาในปี 2022 แวนซ์ยังประกาศว่าจะโหวตคัดค้านกฎหมาย Respect for Marriage Act ซึ่งคุ้มครองการสมรสระหว่างเพศเดียวกันและการสมรสต่างเชื้อชาติในระดับรัฐบาลกลาง โดยอ้างเหตุผลเรื่องเสรีภาพทางศาสนา

 

  • ห้ามผู้หญิงข้ามเพศเล่นกีฬา

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญเมื่อพิจารณาจากสุนทรพจน์ของทรัมป์ ที่รัฐเวอร์จิเนียเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าจะ 'ทำให้ผู้ชายให้อยู่ห่างจากกีฬาประเภทผู้หญิง' 

ในแผน Agenda 47 ของทรัมป์ยังระบุว่าจะขอให้สภาคองเกรสตีความกฎหมายที่ชื่อว่า "Title IX"  หรือ พระราชบัญญัติการศึกษา ค.ศ. 1972 (Education Amendments of 1972) ที่ร่างขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยประเด็นทางเพศ ในการเข้าถึงกิจกรรม สิทธิประโยชน์ การเรียนการสอน และความช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงเป็นการป้องกันการล่วงละเมิศทางเพศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อวงการกีฬาเป็นอย่างมาก โดยทรัมป์อยากจะนำกฎหมายดังกล่าวกลับสู่ยุคเดิม โดยเน้นว่าห้ามผู้หญิงข้ามเพศเข้าร่วมกีฬาผู้หญิง ซึ่งเขาเคยพยายามที่จะยกเลิกการคุ้มครอง Title IX สำหรับนักเรียน LGBTQIA+ มาก่อนหน้านี้

 

  • ไม่ให้ LGBTQIA+ เป็นทหาร

ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก เขาได้สั่งให้กระทรวงกลาโหมยกเลิกคำสั่งที่ออกในปี 2016 ซึ่งอนุญาตให้คนข้ามเพศสามารถรับราชการในกองทัพได้อย่างเปิดเผย โดยทรัมป์อ้างว่าเหตุผลในการยกเลิกคือค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดยืนยันเพศ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงและทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อรัฐบาลของทรัมป์ทันที

ในปี 2021 รัฐบาลของโจ ไบเดนได้ยกเลิกคำสั่งนี้ ทำให้คนข้ามเพศสามารถเข้าร่วมกองทัพได้อีกครั้ง แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าเมื่อทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง นโยบายนี้อาจจะถูกฟื้นคืนมา และอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องตามมา

 

  • การฟ้องร้องบนแนวคิดที่แตกต่างกัน

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์อาจนำไปสู่การแต่งตั้งผู้พิพากษาในแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การตีความกฎหมายในระดับรัฐบาลกลางเปลี่ยนไป  ซึ่งนโยบายของรัฐบาลกลางสหรัฐมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีการออกกฎหมายหรือคำสั่งจากประธานาธิบดีที่กำหนดกรอบแนวทางในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิพลเมือง การศึกษา และสวัสดิการ

อย่างไรก็ตามรัฐต่างๆ ยังมีอำนาจในการออกกฎหมายที่แตกต่างไปจากนโยบายของรัฐบาลกลาง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการท้าทายทางกฎหมายขึ้นอย่างรุนแรง

ตัวอย่างเช่น เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในปี 2015 (คดี Obergefell v. Hodges) รัฐส่วนใหญ่ต้องปฏิบัติตาม แต่บางรัฐยังออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิของชุมชน LGBTQ+ ในเรื่องอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพและการศึกษา

เมื่อดูแนวนโยบายของรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาก็พบว่าก่อนหน้านี้มี 26 รัฐที่ออกนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกับทรัมป์ เนื่องจากมีการออกกฎต่อต้านการยืนยันเพศสำหรับเยาวชน โดยเฉพาะใน 'ฟลอริดา' ที่ได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและสวัสดิภาพของคน LGBTQIA+  เช่น การห้ามการรักษาด้วยฮอร์โมนและการผ่าตัด และการบังคับให้การจ่ายยาสำหรับการยืนยันเพศต้องทำโดยแพทย์ที่พบหน้ากัน รวมไปถึงสำนักงานความปลอดภัยทางหลวงและยานพาหนะของรัฐฟลอริดาได้เผยแพร่บันทึกที่กล่าวว่า ชาวฟลอริดาจะไม่สามารถเปลี่ยนเพศที่ระบุในใบขับขี่หรือบัตรประชาชนได้ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา มีคนข้ามเพศที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปราว 1.6 ล้านคน คิดเป็น 0.6% ของประชากรทั้งหมด โดยในจำนวนนี้มีประชากร 1.3 ล้านคนที่เป็นผู้ใหญ่ข้ามเพศ และ 300,000 คนเป็นเยาวชนที่มีอายุ 13-17 ปี ซึ่งระบุว่าเป็นคนข้ามเพศ.