posttoday

‘ลดใช้สัตว์ทดลอง’ จุฬาฯ พัฒนาหุ่นฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขโต้ตอบได้

12 พฤศจิกายน 2567

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนา ‘หุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขในรูปแบบโต้ตอบได้’ เพื่อลดการใช้สัตว์ทดลอง

  • ที่มาของนวัตกรรม

นวัตกรรม “หุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ในรูปแบบโต้ตอบได้เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง” ผลงานของ ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ นายภักดี  สุดถนอม นางจันทิมา อินทรปัญญา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และนายกฤตยชญ์  เชื้อศิริ นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ

พัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหุ่นฝึกที่โต้ตอบได้ โดยลดการบาดเจ็บและความเครียดของสุนัข เพราะสามารถนำมาใช้ทดแทนสัตว์ทดลองจริง

นอกจากนี้ ยังเป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาผลิต ซึ่งทำให้ลดต้นทุนเมื่อเทียบกับหุ่นนำเข้าจากต่างประเทศ 

เป้าหมายในการจัดทำหุ่นจำลองจะถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวางแผนผลิตเพื่อจำหน่ายในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีแผนการใช้งานในห้องฝึกปฏิบัติการทักษะสัตวแพทย์ คลินิก หรือ โรงพยาบาลสัตว์ หุ่นจำลองนี้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและลดการใช้สัตว์ทดลอง สามารถซ่อมแซมและใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดขยะอันตราย นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการศึกษาและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

‘ลดใช้สัตว์ทดลอง’ จุฬาฯ พัฒนาหุ่นฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขโต้ตอบได้

 

  • การออกแบบหุ่นจำลองและการผลิต

หุ่นจำลองได้รับการออกแบบให้คล้ายสุนัขจริง สายพันธุ์ไทย สีเทาดำ อยู่ในท่ายืนสี่เท้า โดยมีการแสดงลักษณะกายวิภาคภายนอกและภายในเพื่อการเรียนรู้ทางสัตวแพทย์อย่างชัดเจน หุ่นประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก 4 ส่วน ได้แก่

  1. หุ่นจำลองพร้อมระบบการจำลองการไหลของเลือดเทียม
  2. กล่องจับสัญญาณ 
  3. กล่องฟังเสียงบรรยาย 
  4. อุปกรณ์เจาะเลือดฉีดยา

ตัวหุ่นมีการฝังท่อซิลิโคนแทนหลอดเลือดต่าง ๆ และใช้เซ็นเซอร์ที่ผลิตจากกระป๋องน้ำอัดลมในการจับสัญญาณ หุ่นจำลองถอดแยกประกอบลำตัวและขาหน้าและขาหลังได้ ผิวหนังถูกหุ้มด้วยผ้าชนิดพิเศษที่คล้ายขนสุนัขจริง ติดซิป และตีนตุ๊กแกไว้ทำให้สามารถถอดประกอบได้เพื่อศึกษาโครงสร้างกายวิภาคภายในได้ การฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง หากฉีดผิดพลาดหลอดไฟสีแอลอีดีที่กล่องจับสัญญาณเปลี่ยนสี และมีเสียงเห่า

ขั้นตอนและกระบวนการผลิต มีการปั้นต้นแบบจากตัวอย่างสุนัขจริงที่ถูกเตรียมด้วยฟอร์มาลีน ร่วมกับการใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ฝาขวดพลาสติก โฟม และซิลิโคนชนิดพิเศษ เพื่อสร้างหุ่นจำลอง

 

  • ได้รับรางวัลนวัตกรรมระดับนานาชาติ

หุ่นฝึกการเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ในรูปแบบโต้ตอบได้เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง” (Model of canine venipuncture and injecting made from waste material in an interactive form for self-learning” ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold medal) และประกาศนียบัตร (certificate) จากสาธารณรัฐจีน ( ไต้หวัน) และสาธารณรัฐโครเอเชีย จากเวทีนวัตกรรมระดับนานาชาติ  “International Trade Fair - Ideas, Inventions and New Products (iENA 2024)” ระหว่างวันที่ 24 - 31 ตุลาคม 2567 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี  

​และยังเป็น 1 ใน 18 ผลงานนวัตกรรมจากประเทศไทยและเป็นทีมเดียวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานในเวทีนวัตกรรมดังกล่าว ในประเภท Teaching and Research, Pedagogical items.

 

‘ลดใช้สัตว์ทดลอง’ จุฬาฯ พัฒนาหุ่นฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัขโต้ตอบได้