posttoday

ก้าวสำคัญ! 'ชนู นิมเมชา' ผู้สมัครข้ามเพศคนแรกในรัฐสภาของ 'ศรีลังกา'

13 พฤศจิกายน 2567

'ชนู นิมเมชา' คือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองข้ามเพศคนแรกของศรีลังกา ที่ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งรัฐสภาในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ โดยหวังว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและการยอมรับทางด้านความหลากหลายทางเพศมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียใต้

  • ชนู นิมเมชา คือใคร?

ชนู นิมเมชา (Chanu Nimesha) อายุ 49 ปี เธอเกิดในเมืองกอลล์ ทางตอนใต้ของศรีลังกา และสูญเสียพ่อของเธอเมื่ออายุ 14 ปีจากการก่อกบฏทางการเมืองในปี 1989 ต่อมาเธอได้ย้ายไปอยู่ที่โคลัมโบและขาดการติดต่อกับครอบครัวที่ยังคงมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม  ล่าสุดได้ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรคสังคมนิยมแห่งศรีลังกา โดยเป็นหนึ่งในผู้สมัครประมาณ 8,000 คนในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยนิมเมชาทำงานเกี่ยวกับการประเมินวัสดุก่อสร้างในไซต์ก่อสร้างแห่งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นทุนในการเคลื่อนไหวและรณรงค์ทางการเมืองของเธอ นอกจากนี้ยังเป็นนักแสดงสมัครเล่น นักแต่งเพลง และเขียนหนังสืออีกด้วย

ในปี 2022  นิมเมชาเคยเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงหลายพันคนที่เดินขบวนในโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกา เพื่อบุกสำนักงานและที่พักของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาในขณะนั้น ทำให้เขาต้องหลบหนีออกนอกประเทศและลาออกในที่สุด เนื่อจากศรีลังกาตกอยู่ในวิกฤตการณ์การเงินที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่าเจ็ดทศวรรษ จากปัญหาหนี้สินสูง และการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ตาม

 

ภาพจาก FB : Chanu Nimesha

 

  • สถานการณ์ LGBTQIA+ และคนข้ามเพศในศรีลังกา

อ้างอิงจาก Equal Ground องค์กรที่ทำงานเพื่อสิทธิของ LGBTQIA+  และส่งเสริมความเข้าใจประเด็นความหลากหลายทางเพศในศรีลังกา พบว่าประชากรข้ามเพศในศรีลังกาคาดว่ามีราว 1% จากประชากรทั้งหมด 22 ล้านคน และพบว่าคนข้ามเพศมักเผชิญกับการถูกปฏิเสธจากสังคม ขาดการคุ้มครองทางกฎหมาย และแทบไม่มีตัวแทนในพรรคการเมืองต่างๆ

การสนับสนุนสิทธิของ LGBTQIA+ ในแวดวงการเมืองกำลังพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีนักการเมืองบางคนที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิเพื่อกลุ่มLGBTQIA+ อย่างเด่นชัด หนึ่งในนั้นคือ จีวาน ธอนดามัน (Jeevan Thondaman) อดีตรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของศรีลังกา และผู้นำของสภาคนงานซีลอน (Ceylon Workers' Congress) โดยเขาเคยกล่าวว่า วัฒนธรรมโบราณของศรีลังกาเคยยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน และมองว่าการปกครองของเจ้าอาณานิคมเป็นสิ่งที่ทำให้ทัศนคติเหล่านี้ถูกกดทับในภายหลัง ธอนดามันสนับสนุนให้มีการแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกการลงโทษความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันและลดอุปสรรคทางกฎหมายที่กลุ่ม LGBTQIA+ ในศรีลังกาต้องเผชิญ

อีกหนึ่งผู้สนับสนุนคือ เปรมณัช โดลาวัตเต้ (Premnath C. Dolawatte) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกการลงโทษความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันในปี 2023 การเสนอกฎหมายนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในศรีลังกา ซึ่งในระหว่างนี้มีหลายพรรคการเมืองร่วมกันอภิปรายถึงความตั้งใจที่จะสนับสนุนสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ โดยมองว่าการแก้ไขปัญหานี้ควรพิจารณาทั้งในด้านการเมืองและวัฒนธรรม

สำหรับกฎหมายที่เป็นปัญหามากที่สุดคือมาตรา 365 ซึ่งระบุให้การมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศเป็นความผิด แม้ว่าจะดูเหมือนกฎหมายนี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังก็ตาม แต่ในบางครั้งก็เป็นช่องว่างให้ตำรวจใช้กฎหมายดังกล่าวในการข่มขู่ กลุ่ม LGBTQIA+ ก็ตาม โดยกฎหมายนี้เป็นผลพวงจากยุคอาณานิคม ที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ในยุโรป 

 

  • การลงสมัครของนิมเมชา

นิมเมชาลงสมัครในเขตเคกัลเล ห่างจากโคลัมโบประมาณ 80 กิโลเมตร เธอระบุว่าเธอเป็นคนข้ามเพศคนแรกที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อชิงที่นั่งในรัฐสภาที่มีสมาชิกทั้งหมด 225 คน และแนวทางเรื่องความยุติธรรมทางสังคมของเธอก็ได้รับการตอบรับที่ดี โดยเธอเปิดเผยกับสื่อต่างประเทศว่า ไม่ได้มีความกังวลว่าจะแพ้หรือชนะ เพราะสิ่งสำคัญคือการได้อยู่ในพื้นที่ เป็นที่รู้จัก และสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ที่เป็นเหมือนตน อีกทั้งยังต้องการช่วยเหลือทุกคนไม่ใช่แค่เฉพาะคนที่อยู่ในชุมชน LGBTQIA+ เท่านั้น.