'สมศักดิ์' หวัง 'ตู้ห่วงใย' ทางออกขัดแย้ง แพทย์ VS เภสัช ถามปัญหาของประชาชน?
'สมศักดิ์' เตรียมเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งจากกรณีแพทยสภาฟ้องสปสช. ต่อนโยบายร้านขายยาชุมชนอบอุ่น ชี้เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นหลังเข้ารับตำแหน่ง พร้อมเสนอนวัตกรรม 'ตู้ห่วงใย' ทางออกของความขัดแย้งดังกล่าว ฝากให้คิดปัญหาที่เกิดขึ้นของประชาชนหรือของใคร?
วันนี้ (18 พ.ย.เวลา 09.30 น. ) ที่สหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีการฟ้องร้องระหว่างแพทยสภาและสปสช. ในประเด็น 'ร้านขายยาชุมชนอบอุ่น' ที่จ่ายยาฟรีให้แก่ประชาชนใน 16 กลุ่มอาการว่า
เรื่องคดีก็ต้องเจรจาว่าถอยกันได้เท่าไหร่ ตนไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ร้อนแรงอะไรมากมาย อย่าไปคิดว่าเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องพี่กับน้องที่มีปัญหากัน เพราะต่างคนก็ต่างมีกฎหมายถือกันคนละฉบับ เพราะดูเหมือนเภสัชจะมีกฎหมายบางมาตราสามารถจ่ายยาได้บางประเภท ก็ต้องมาดูว่าบางประเภทนั้นเมื่อเทียบกับ 16 กลุ่มอาการจะเข้าประเภทไหนบ้าง ไม่เข้าเลย หรือเข้าทั้งหมด ก็ต้องมาดูกัน โดยตนยอมรับไม่สามารถทำให้จบได้เลย และไม่รับปากว่าจะจบยังไง เพราะเป็นเรื่องที่เข้าศาลแล้ว ต้องไปจบที่ศาล
' เขาขอให้ศาลปกครองสั่งให้รับฟ้อง ศาลปกครองสูงสุดก็สั่งให้ศาลปกครองกลางดำเนินคดีต่อไป ผมก็ทำหน้าที่ในการพิจารณาต่อไป ถ้าคุยกันรู้เรื่อง ก็จบ ถ้าไม่รู้เรื่องก็ดำเนินคดีว่ากันไป' โดยนายสมศักดิ์เปิดเผยว่าจะมีการนัดเข้ามาพูดคุยกันในช่วงสัปดาห์หน้าหลังจากที่เลื่อนมาจากสัปดาห์ที่แล้ว
เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่าก่อนจะเกิดนโยบายดังกล่าวไม่ได้มีการพูดคุยกันหรือ? รมว.สาธารณสุขตอบว่า
' มันเกิดก่อนผมมา นโยบายดังกล่าวเกิดก่อนผมมา คนเกิดทีหลังอย่างผมมารับมรดก เดี๋ยวคุยให้'
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมโดยเชื่อมไปกับโครงการนวัตกรรม 'ตู้ห่วงใย' ซึ่งนำร่องในชุมชนเคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ กทม. ยกระดับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ให้หมอพบคนไข้ด้วยระบบเทเลเมดิซีน สามารถรักษาครอบคลุม 42 กลุ่มโรค ไม่ต้องรอคิวในโรงพยาบาลและให้ไรเดอร์ส่งยารักษาให้ถึงบ้านทันทีว่า
' ผมมองว่าบริการ 'ตู้ห่วงใย' จะแก้ปัญหาฟ้องร้องได้ เพราะอันที่ฟ้องนั้น 16 กลุ่มอาการ แต่โครงการตู้ห่วงใย 42 กลุ่มอาการ และสปสช.มีค่าใช้จ่ายน้อยลง และยังเปิดรับผู้ประกอบการที่จะเปิดตู้แข่งกันเพิ่มเติมขึ้นอีก หากใครอยากจะลงทุน ...
ถ้าเข้าตู้ห่วงใยแล้ว ทางคลินิกของตู้จะส่งยาบริหารให้เอง ไม่ต้องไปร้านยานอกคำสั่งของตู้ห่วงใย แต่ว่าถ้าหากไม่ใช้ตู้ห่วงใยก็ยังไปใช้ร้านขายยาได้เหมือนเดิม เพราะยังฟ้องร้องและเคลียร์ไม่จบ' โดยมองว่าตอนแรกคิดว่าตู้ห่วงใยจะเป็นนวัตกรรมเสริม แต่เมื่อเห็นโครงการแล้วมองว่าเป็นนวัตกรรมหลักได้!
สำหรับ 'ตู้ห่วงใย' มีลักษณะเป็นตู้ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปใช้บริการเทเลเมดีซีน มีการตรวจวัด ส่วนสูง น้ำหนัก ความดัน ถามประวัติคนไข้ จากนั้นข้อมูลจะส่งไปยังศูนย์บริการ มีแพทย์รับสาย วิเคราะห์ข้อมูล ตรวจรักษา ลดความแออัดในโรงพยาบาลลงได้ เพราะแต่ละปี มีประชาชนใช้บริการในโรงพยาบาลประมาณ 304 ล้านครั้ง ดังนั้นเมื่อมีตู้ห่วงใยจะลดความแออัดในโรงพยาบาลลง ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ลดระยะเวลาในการไปรอคิวตรวจรักษา โดย 1 วัน ตู้ห่วงใยสามารถให้บริการได้ 72 คน เฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อ 6 คน ประชาชนในจังหวัดอื่นที่ถือบัตรทองก็สามารถรับบริการได้ และสามารถรับยาได้ทันทีผ่านไรเดอร์ ซึ่งภายในปีนี้จะพยายามขยายให้ได้ 50 แห่งในกรุงเทพฯ ส่วนปีหน้าจะเริ่มขยายการให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัด
ทั้งนี้ ในประเด็นข้อถกเถียงซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องที่เกิดขึ้น รมว.สาธารณสุขทิ้งท้ายชี้ให้คิดว่า ปัญหาที่ถกเถียงกันนั้นเป็นปัญหาของประชาชน หรือปัญหาของใคร?
- ย้อนดูคำสั่งศาลปกครองสูงสุดระบุ รับฟ้องเนื่องจากเป็น 'การคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ'
วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้อง โดยออกคำสั่งที่ 1101/2567 เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกกฎโดยไม่ชอบ ซึ่งแพทยสภาฟ้องร้องต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสภาเภสัชกรรม
โดยศาลพิจารณาว่า คดีนี้เป็นการฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือไม่ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ... และมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งมีการอ้างว่าการดำเนินงานตามประกาศของสปสช. อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยทั่วประเทศที่เข้าใช้สิทธิ ..
โดยศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนการประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนที่เกิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี การฟ้องคดีนี้จึงเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
การอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังขึ้น จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี.