ด่วน! สปสช. แถลง ‘มะเร็งรักษาทุกที่’ เลื่อนใช้เกณฑ์เบิกจ่ายใหม่ออกไป 3 เดือน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดแถลงด่วนกรณีการเบิกจ่าย ‘โรคมะเร็งรักษาทุกที่’ หรือ Cancer Anywhere ณ อาคารรวมหน่วยงานราชการ (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพมหานคร หลังจากที่โรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งประกาศต้องมีหนังสือส่งตัวรับรองค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยบริการต้นสังกัดเท่านั้น จึงจะใช้สิทธิบัตรทองเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้
นพ.จเด็จ ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า โครงการ ‘มะเร็งรักษาทุกที่’ ยังคงดำเนินการต่อ ต้องเรียนว่าผู้ที่วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง สามารเข้ารับบริการที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งรังสีรักษา เคมีบำบัด และฮอร์โมนได้ทุกที่โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสปสช. พยายามจะปรับหลักเกณฑ์โดยเฉพาะโรคร่วมต่างๆ แต่กลับกลายเป็นความไม่ชัดเจน ซึ่งเมื่อวานนี้ได้มีการพูดคุยและหารือกับผู้บริหารโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาภรณ์ และ รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น ซึ่งต่างเป็นโรงพยาบาลที่ได้มีการเผยแพร่ประกาศว่าในวันที่ 1 มกราคม 2568 จะต้องมีการขอใบส่งตัวรับรองค่ารักษาพยาบาล
การพูดคุยหารือมีข้อสรุปร่วมกันหลายประเด็น ได้แก่
1. หากหลักเกณฑ์ไหนยังไม่ชัดเจน และไม่เข้าใจ จะชะลอการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปก่อน โดยจะกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิมคือ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งสามารถรักษามะเร็งที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว รวมถึงการรักษาโรคที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือว่าโรคร่วม รวมถึงการรักษาต่อเนื่องด้วย โดยสปสช. จะผ่อนผัน และทำงานร่วมกับโรงพยาบาลตลอด 3 เดือน
2. ระหว่าง 3 เดือนนี้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่ง โดยมี ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เป็นประธาน เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ ให้ดียึ่งขึ้น และทบทวนปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันและรวมกันวางแผน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ดีขึ้นในอนาคต
3. ในภาพรวมต่างเห็นว่าโครงการ ‘มะเร็งรักษาทุกที่’ เป็นโครงการที่ดี แต่มีหลายประเด็นที่มีความท้าทาย เช่น ยาชนิดใหม่ที่เกิดขึ้น การตรวจห้องปฏิบัติการ และงบประมาณ ซึ่งจะมีการช่วยกันวางแผนว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร รวมไปถึงการดูแลโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมากด้วย รวมถึงระบบเบิกจ่ายต่างๆ
ดังนั้น จึงมีมติในที่ประชุมชะลอหลักเกณฑ์ใหม่ออกไประยะเวลา 3 เดือน แต่ยังคงยืนยันว่าการรักษาไม่จำเป็นต้องมีใบส่งตัว โดยเฉพาะวัตถุประสงค์เพื่อให้สปสช.ตามไปจ่ายเงิน อย่างไรก็ตามประวัติการรักษาจำเป็นต้องมีการส่งไปยังหน่วยบริการ ซึ่งจะมีการเชื่อมข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันมะเร็ง ซึ่งจะมีข้อมูลของคนไข้มะเร็งทั่วประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ นพ.จเด็จกล่าวย้ำว่าขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าไม่มีการยกเลิกโครงการดังกล่าว และจะทำให้ดีขึ้นในอนาคต
สำหรับกรณีใบส่งตัวที่มีข้อถกเถียงและเป็นปัญหามาตลอดนั้น ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่ามี 2 นัยยะ คือ นัยยะแรก 'ใบส่งตัว' มีไว้เพื่อให้แพทย์ได้ทราบประวัติของคนไข้จากต้นทาง เพื่อไม่เสียเวลาซักเพิ่มเติม อีกนัยยะหนึ่งคือ การตามจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของทาง สปสช. (ซึ่งส่วนนี้ได้สร้างความกังวลจนรพ.ใหญ่หลายแห่งประกาศ ให้ผู้ป่วยต้องมีใบส่งตัวเพื่อรับรองค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยบริการต้นสังกัดตามสิทธิของผู้ป่วย) จึงอยากให้คลายความกังวล เพราะได้มีการตั้งกองทุนและงบประมาณเรียบร้อยแล้ว และอยากขอให้ทุกคนมั่นใจ อย่างไรก็ตามจะใช้เวลา 3 เดือนนี้การวางแผนร่วมกันเพื่อปรับระบบให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยืนยันว่า นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ยังคงเดินหน้า และขอขอบคุณโรงพยาบาลทุกแห่ง แม้จะมีภาระงานเยอะแต่ยินดีให้บริการ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอาจมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ก็ต้องขออภัยและหลังจากนี้จะมีการทำงานร่วมกัน สำหรับประชาชนยังสามารถใช้สิทธิในโครงการนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยโรงพยาบาลที่รับการส่งตัวจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายโรคร่วม และโรคต่อเนื่องต่างๆ เนื่องจากมีการเลื่อนเกณฑ์ใหม่ออกไประยะเวลา 3 เดือน
รายละเอียดหลักเกณฑ์ใหม่ 'มะเร็งรักษาทุกที่' ก่อนจะโดนเลื่อน!
สำหรับรายละเอียดหลักเกณฑ์เบิกจ่ายค่ารักษา 'มะเร็งรักษาทุกที่' ที่ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากมีโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งประกาศต้องให้ผู้ป่วยมีใบส่งตัวเพื่อรับรองค่ารักษาพยาบาล มีรายละเอียดคือ หากผู้ป่วยบัตรทองเข้าโคางการ 'มะเร็งรักษาทุกที่” (Cancer Anywhere) และจะเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพด้านมะเร็งได้นั้น มีการกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่ เฉพาะรายการให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เนื่องจากทางสปสช. มองว่าเป็นการเบิกจ่ายที่ซ้ำซ้อน จึงอยากจะแยกรายการเบิกจ่าย ทำให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพด้านมะเร็งจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาโรคแทรก โรคร่วม หรือหรือโรคอื่นๆ ที่ไม่สัมพันธ์กับโรคมะเร็งได้เนื่องจาก สปสช.กันออกจากการจ่ายในโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ เพราะมองว่าโรคเหล่านี้เป็นค่าบริการที่อยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้จัดสรรให้กับหน่วยบริการไว้อยู่แล้ว และจ่ายเฉพาะบริการที่เกี่ยวกับมะเร็ง ได้แก่ เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษา
เงื่อนไขดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลใหญ่ๆ จึงจำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์ให้มีใบส่งตัวเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเพื่อรับรองการรักษา เพื่อนำไปใช้เรียกเบิกเก็บเงินในการให้บริการอื่นๆ กับทางหน่วยบริการต้นสังกัดของผู้ป่วย
ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ได้ให้สัมภาษณ์รายการตรงประเด็น ไทยพีบีเอส วันที่ 13 ธ.ค. 2567 ไว้ในประเด็นดังกล่าวว่า จากมุมของผู้กำหนดนโยบาย อาจมองว่า การเบิกจ่ายภายใต้กองทุน Cancer Anywhere ควรครอบคลุมเฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งโดยตรงเท่านั้น ในกรณีที่การรักษาหรือการตรวจไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ก็ไม่ควรนำมารวมในกองทุนดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติ การแยกส่วนการเจ็บป่วยของผู้ป่วยไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน เพราะผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานหรือโรคไต และผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งอาจกระทบต่อโรคเหล่านี้ เช่น การรักษามะเร็งอาจทำให้การทำงานของไตแย่ลง ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนสูตรยาและวางแผนการรักษาใหม่
ในฐานะหน่วยบริการ แม้จะต้องปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายค่าบริการคืนได้ แต่ความเสี่ยงกลับตกอยู่ที่โรงพยาบาลและหน่วยบริการเอง ไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะค่าใช้จ่ายในการให้บริการ เช่น ค่ายา ค่าตรวจแล็บ หรือค่าทำ CT Scan เกิดขึ้นทันทีในหน้างาน และหากหน่วยบริการไม่สามารถเบิกจ่ายคืนจาก สปสช. ได้ จะกลายเป็นปัญหาทางการเงินโดยตรง.