‘แผ่นปิดกะโหลก’ ของคนไทย ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลที่อเมริกาสำเร็จครั้งแรก!
ครั้งแรกของไทย เมื่อ ‘แผ่นปิดกะโหลก’ ฝีมือนวัตกรรมโดยคนไทย ฝ่าด่าน FDA สหรัฐฯ และถูกบรรจุในอุปกรณ์การแพทย์ที่หน่วยงานในสหรัฐสามารถเบิกให้คนไข้ได้สำเร็จ พร้อมขยายการขออนุญาตไปอีกกว่า 10 รัฐ
นายสุเมธ ไชยสูรยกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ และกรรมการบริษัท เมติคูลี่ จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทย เปิดเผยว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาล Lenox Hill ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการผ่าตัดใส่แผ่นปิดกะโหลกศีรษะ โดยใช้ผลิตภัณฑ์แผ่นปิดกะโหลกที่ผลิตขึ้นในไทย และจากการติดตามอาการ 1 เดือนให้หลังพบว่ามีผลการรักษาที่น่าพอใจ
นายสุเมธ กล่าวว่า การผ่าตัดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลในสหรัฐใช้ผลิตภัณฑ์แผ่นปิดกระโหลกศีรษะจากบริษัทเครื่องมือแพทย์ของไทย สะท้อนว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานในระดับสากล และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบุกเบิกตลาดเครื่องมือแพทย์ในอเมริกา
ผ่าน FDA สหรัฐฯ และเข้าไปอยู่ในบัญชีอุปกรณ์ที่หน่วยงานในสหรัฐฯ อนุญาตให้เบิกจ่ายได้!
นายสุเมธเปิดเผยว่า โดยปกติแล้วธุรกิจเครื่องมือแพทย์จะมีหลาย Tier ซึ่งในประเทศชั้นนำ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป การจะใช้เครื่องมือแพทย์ที่ใส่เข้าไปในร่างกายของคนไข้นั้น เครื่องมือดังกล่าวจะต้องมีมาตรฐานที่สูงมากๆ และโดยมากแล้วเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจะเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศชั้นนำด้วยกันเอง ส่วนผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยนั้น กล่าวได้ว่าแทบจะไม่ได้อยู่ในสายตาของประเทศเหล่านี้
“การจะทำให้เขาใช้ผลิตภัณฑ์ของไทยไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างที่บอกไปว่าถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใส่เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยต้องมีมาตรฐานสูงมากและประเทศไทยเราไม่ได้อยู่ในสายตาหรือไม่ได้รับความเชื่อถือมาก่อน กว่าจะทำให้เขาใช้ของเราได้ อย่างแรกต้องขออนุญาตจาก FDA ซึ่งเป็นหน่วยงานเหมือนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของเขาก่อน
นอกจากนี้ เราก็ต้องผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของเราได้เข้าไปอยู่ในรายการบัญชีอุปกรณ์ที่หน่วยงานหลักประกันสุขภาพของเขาอนุญาติให้เบิกจ่ายได้ ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี” นายสุเมธ กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการยอมรับจากแพทย์ เพราะโดยทั่วไปแล้วแพทย์ผู้ทำการรักษาจะสบายใจและคุ้นเคยในการใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทชั้นนำมากกว่าผลิตภัณฑ์จากบริษัทใหม่ๆที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
อย่างไรตาม เนื่องจากผลิตภัณฑ์แผ่นปิดกระโหลกของไทย มีประวัติการใช้ในประเทศไทยมากกว่า 1,000 เคส
ดังนั้น การที่แพทย์ในไทยเลือกใช้แผ่นปิดกะโหลกของบริษัท จึงทำให้แพทย์ในอเมริการู้สึกเชื่อมั่น ประกอบการบริการของบริษัทที่สามารถปรับแต่งแผ่นปิดกะโหลกให้ตรงกับความต้องการของแพทย์ผู้ทำการรักษา ทำให้แพทย์ของโรงพยาบาล Lenox Hill รู้สึกสบายใจและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทในที่สุด
โฟกัสที่อเมริกา ขยายตลาดต่อไป
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางการขยายตลาดในต่างประเทศหลังจากนี้ เบื้องต้นยังคงโฟกัสที่ประเทศอเมริกาก่อน ซึ่งนอกจากรัฐนิวยอร์กแล้ว บริษัทยังยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในอีก 10 กว่ารัฐ รวมทั้งอยู่ระหว่างการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งชิ้นคือแผ่นปิดกระโหลกหน้า นอกเหนือจากแผ่นปิดกะโหลกศีรษะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว
ที่สำคัญคือการเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในกลุ่มแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ และหวังว่าผลิตภัณฑ์แผ่นปิดกระโหลกศีรษะของบริษัทจะถูกนำไปใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ
ไทยอนุญาตให้ใช้ได้แล้วตามสิทธิ สปสช.
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย แผ่นปิดกะโหลกศีรษะดังกล่าวนอกจากส่งออกแล้ว ยังเป็นรายการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อนุญาตให้เบิกได้ตั้งแต่ปี 2566 แต่จนถึงปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทยังมีการใช้งานและเบิกจ่ายจากโรงพยาบาลในไทยไม่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้ โดยมีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องเป็นแผลติดเชื้อถึงจะสามารถใช้ได้.
นวัตกรรมแผ่นปิดกะโหลก มีประโยชน์อย่างไร
แผ่นปิดกะโหลกเทียมไทเทเนียม จากอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิต (ปี 2563) ทั้งหมด 34,545 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการรักษาหนึ่งคือ 'การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ' เมื่อผ่าแล้วก็จะมีการปิดคืนกะโหลดศีรษะให้ผู้ป่วยโดยใช้ Polymethylmethacrylate (PMMA) แต่วัสดุ PMMA มีข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องความแข็งแรงทนทาน ตลอดจนรอยยุบและรอยต่อระหว่างกะโหลกจริงและกะโหลกเทียม ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวและพัฒนาการของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด และอาจเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อจากวัสดุได้ ซึ่งการพัฒนาแผ่นปิดกะโหลกเทียมไทเทเนียมซึ่งมีความแข็งแรง แต่มีอัตราการติดเชื้อน้อยลง และสามารถออกแบบให้เข้ากับกะโหลกของบุคคลนั้นได้