posttoday

เบื้องลึก! กว่า ‘แผ่นปิดกะโหลกไทย’ ผ่าน U.S.FDA และรพ.ดังใน Netflix ยอมรับ

19 กุมภาพันธ์ 2568

เบื้องลึกสุดหินของ ‘เมติคูลี’ บริษัทที่เริ่มต้นจากการวิจัยไทยแท้ จนพา ‘แผ่นปิดกะโหลกไทเทเนียม’ ผ่านด่าน FDA สหรัฐฯ อย่างที่ไม่มีคนไทยคนไหนเคยทำมาก่อน เท่านั้นไม่พอ! ต้องเจอด่านโรงพยาบาลชื่อดังที่ปรากฎใน Netflix อย่าง Lenox Hill เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า ‘Why Thailand?’

KEY

POINTS

  • เบื้องลึกสุดหินของ ‘เมติคูลี’ บริษัทที่เริ่มต้นจากการวิจัยไทยแท้ จนพา ‘แผ่นปิดกะโหลกไทเทเนียม’ ผ่านด่าน FDA สหรัฐฯ 
  • 'นวัตกรรมไทยแท้' ที่สามารถตอบโจทย์การติดเชื้อหลังการรักษาได้ต่ำกว่าแบบเดิมที่เคยใช้งานทั่วโลก
  • สร้าง 'โรบินฮู้ดโมเดล' โมเดลที่จะพาผลิตภัณฑ์ไปหาเงินที่สหรัฐฯ เพื่อนำกลับมาชดเชยให้แก่คนไทย

01

“หากมองกลับไป มันยากมาก”

 

นักวิจัยจากประเทศเล็กๆ ในแถบอาเซียนอย่าง 'ประเทศไทย' ที่แม้จะมีชื่อในวงการท่องเที่ยว แต่สำหรับวงการแพทย์ในระดับโลกนั้นที่ผ่านมาต้องเรียกว่า ‘ยังอีกไกล’ อย่างที่รู้ๆ ว่างานวิจัยของนักวิจัยไทยนั้นดี แต่ต้องเก็บขึ้นหิ้งจนรกร้าง เนื่องจากการนำมาสู่การผลิตจริง หรือแม้แต่จะผ่านการวิจัยให้ได้ อย. นั้นเหมือน ‘ยาขม’ ที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงเงินมหาศาล ไม่นับรวม ‘เวลา’ ที่ประเมินเป็นมูลค่ามิได้

 

ตัดภาพมาที่ ‘ประชาชนไทย’ นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ จึงตกมาถึงมือพวกเขา หรือที่เรียกว่า 'เข้าถึง' ได้อย่างยากเย็นแสนเข็ญ

ผลที่ได้รับในบางเคสที่ยากจริงๆ บางทีผู้ป่วยก็สู้ไม่ไหว .. ไม่ไหวอะไรบ้างนั้นก็ให้ตีความกันเอง

.

.

 

เบื้องลึก! กว่า ‘แผ่นปิดกะโหลกไทย’ ผ่าน U.S.FDA และรพ.ดังใน Netflix ยอมรับ

 

ในห้องวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของประเทศ แต่ใครจะนึกฝันว่า ‘วิศวกร’ จะฝันเป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ได้ แต่ ‘เชษฐา’ และเพื่อน มีความฝัน และพบสิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดว่าในอีก 10 ปีต่อมาจะมีค่ามากมายมหาศาล พวกเขาพบวัสดุที่มองว่าเป็นไปได้ นั่นคือ ‘ไทเทเนียม’

 

ไทเทเนียม ไม่ใช่เรื่องใหม่ และการนำไทเทเนียมมาผลิตเป็นแผ่นปิดกะโหลกก็ไม่ใช่เรื่องใหม่บนโลกใบนี้ แม้จะน้อยรายที่ลงมือทำ 

พวกเขาลงแรงวิจัยในทันทีเพื่อหาวัสดุและหาวิธีการผลิตใหม่ในห้องปฏิบัติการขนาดย่อม ในประเทศที่ได้ชื่อว่า 'กำลังพัฒนา'  โดยกล้าที่จะตั้งมาตรฐานสูงสุด

 

คำว่า 'มาตรฐานสูงสุด' ในวงการวิจัย เป็นคำที่ฟังแล้วท้าทายสำหรับประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากคำว่ามาตรฐานสูงสุดนั้น หากเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ก็สามารถทำได้ทันที เพราะใช้เม็ดเงินมหาศาล .. แต่ประเทศขนาดเล็กบางครั้งพวกเขาก็เลือกมาตรฐานที่กำลังพอเหมาะพอดีให้เหมาะสมกับงบประมาณ และไม่ใช่สูงสุด แต่ไม่ใช่กับสิ่งที่ 'เชษฐา' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจ พวกเขาเลือกมาตรฐานสูงสุด

 

 

จึงทำให้ต้องใช้เวลาถึง 10 ปีบวกๆ ถึงจะได้ในสิ่งที่ต้องการ แม้ว่าบางส่วนจะได้รับการสนับสนุนทุนจากรัฐบาลแล้วก็ตาม

 

พวกเขาเริ่มจากผลิตภัณฑ์ กะโหลกไทเทเนียมถูกใช้งานกับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเป็นสำคัญ ผลการสำรวจปี 2562 พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 101 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่ถึง 12.2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตราว 6.5 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 34,545 คน

แต่เดิมแพทย์จะใช้วิธีปั้นในห้องผ่าตัดให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล แต่พบว่ามีการติดเชื้อสูงถึง 15-20% หลังจากนั้นจึงมีบางบริษัทที่มองว่าควรจะมีการผลิตเฉพาะบุคคลและไม่ควรไปทำในห้องผ่าตัด จึงเกิด 'นวัตกรรมแผ่นปิดกะโหลก' ขึ้นบนโลกใบนี้ ในต่างประเทศจะใช้วัสดุอื่น แม้จะมีการใช้ไทเทเนียมแต่ก็ยังมีอยู่จำนวนน้อย

ด้วยความบางของไทเทเนียมช่วยส่งผลให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติในร่างกาย รวมไปถึงความติดเรียบเนียนนั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งกะโหลกไทเทเนียมไทยแท้ชิ้นนี้ ติดเชื้อแค่ 0.6% ซึ่งเป็นเรตที่ต่ำมากจนต้องปรบมือ

 

แต่การจะได้มาตรฐานด้านเครื่องมือแพทย์ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น  พวกเขาต้องมีผลการทดลองกับผู้ใช้งานจริงมายืนยัน

 

“ ถ้ากลับไปวันที่เราผ่าเคสแรกคือเคสนิ้วมือ” เชษฐาเล่าให้ฟังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ภายในห้องทำงานซึ่งถูกเซ็ตให้เป็นบรรยากาศที่ทำงานแบบคนรุ่นใหม่

“ หากเราไม่มีผลที่เก็บจากห้องปฏิบัติการ คุณหมอคงไม่ใช้ของเรา การหาวัสดุนั้นยาก แต่การทำให้คุณหมอไว้ใจและใช้งานของเรายากกว่า” เชษฐาพูดขอบคุณ ‘อาจารย์หมอ’ ที่คอยช่วยเหลือหลายต่อหลายครั้งในบทสนทนา

 

เบื้องลึก! กว่า ‘แผ่นปิดกะโหลกไทย’ ผ่าน U.S.FDA และรพ.ดังใน Netflix ยอมรับ

 

เคสแรกของผลงานชิ้นนี้คือการผ่าตัดนิ้วโป้ง ราวปี 2015 ซึ่งถือว่าเป็นเคสแรกของโลกที่ได้ใช้แผ่นปิดของพวกเขา

 

“ถ้ามองกลับไปวันนั้น โอ้โห มันยากมากเลยครับ”

 

จุดแรกนั้นยากเสมอ แต่หลังจากนั้นพวกเขาทำวิจัยโดยมีเคสที่ได้รับการผ่าตัดไปกว่า 2,000 เคส 

เชษฐาบอกด้วยความภูมิใจว่า เขาขออนุญาตเข้าไปห้องผ่าตัดกับคุณหมอทุกที่ แทบจะทั่วไทย

 

และนั่นคงเป็นที่มาของประโยคที่เขาเน้นย้ำว่า

‘การจะทำผลิตภัณฑ์อะไรไม่ควรอยู่ที่ว่าเราอยากทำอะไร แต่คนใช้งานต้องการอะไรต่างหาก’

 

 

02

โรบินฮู้ดโมเดล ความโรแมนติกที่มาพร้อมกับภารกิจอันยิ่งใหญ่

 

ความฝันเล็กๆ ของคนเล็กๆ ที่อยากจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ .. ยิ่งใหญ่อย่างแรกคือการลงทุนลงแรงทำวิจัย

แต่ยิ่งใหญ่ที่สองคือ ‘อุดมการณ์ที่สุดแสนจะโรแมนติก’

 

“ พวกผมเรียกกันว่า โรบินฮู้ดโมเดล”

 

โรบินฮู้ด คือ ตัวละครที่เรารู้จักในฐานะโจรขโมยเงินคนรวยไปแจกจ่ายให้แก่คนจน

 

“ เราไม่ได้อยากที่จะทำแล้วใช้เฉพาะคนไทย เพราะคิดว่าหากคนไทยอยากที่จะได้รับการรักษาที่ดี ของมีคุณภาพในราคาถูก เราจะต้องไปที่อเมริกา เพื่อนำเงินตรงนั้นมาจุนเจือเป็นกำไรแทนประเทศไทย

 

เบื้องลึก! กว่า ‘แผ่นปิดกะโหลกไทย’ ผ่าน U.S.FDA และรพ.ดังใน Netflix ยอมรับ

 

" แม้การผลิตจะเป็นการผลิตเพื่อการใช้งานเฉพาะบุคคล แต่ได้มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในขั้นตอนกระบวนการผลิต เพื่อลดค่าใช้จ่าย จากที่ต้องออกแบบ 5 วัน เหลือเพียง 5 นาที นอกจากนี้การพิมพ์ 3 มิติ หากมีการผลิตทีละมากๆ แม้รูปทรงจะต่างกัน แต่สามารถผลิตเพียงครั้งเดียวได้เลย ซึ่งเป็นการประหยัดต้นทุน" เชษฐาอธิบายว่าการขยายต่างประเทศจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร

 

อุดมการณ์นั้นทำให้ ‘เมติคูลี่’ บริษัทที่เชษฐาและเพื่อนๆ ตั้งขึ้นในปี 2017 มุ่งไปที่การได้มาตรฐานเป็นสำคัญทั้งในและต่างประเทศ  พวกเขาได้ทำการขอมาตรฐาน อ.ย.ของประเทศไทย และ ISO13485 สำหรับเครื่องมือทางการแพทย์  จากนั้นจึงมุ่งขอ FDA ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่งานวิจัยจากคนไทยในเรื่องเครื่องมือการแพทย์จะไปได้ไกลถึงจุดนี้

 

เชษฐาเล่าว่า U.S. FDA จะมีวิธีการตรวจสอบหลักๆ ในเรื่อง ความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

ความปลอดภัย จะมีการทดสอบว่าผลิตภัณฑ์เข้ากันกับร่างกายได้ดีหรือไม่ ฉะนั้นจึงต้องมีผลการทดสอบที่เรียกว่า 'Biocompatibility' ในห้องทดลอง ตั้งแต่ในสัตว์ทดลองไปจนถงขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ ซึ่งพวกเขาทำถูกต้องครบถ้วน

 

ส่วนที่สองคือเรื่อง ประสิทธิภาพการใช้งาน หรือ เพอร์ฟอร์แมนซ์ สิ่งที่สำคัญคือมีการทดสอบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องมีเพิ่มเติมจากที่เคยผ่าน อ.ย.ที่ไทย

อีกทั้งยังต้องผ่าน มาตรฐานจากคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าการศึกษาเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริงๆ มีความเสี่ยงที่ถูกควบคุม มีการวัดผลจากบุคคลที่ไม่มีอคติ และมีการวัดผล สามารถประเมินผลได้จริง ไม่ใช่แค่เพียงมีใบยินยอมจากผู้ป่วยอย่างเดียวแล้วใช้งานได้เลย

 

“เมื่อเรามีครบแบบนี้ ถึงจะเอาตัวงานวิจัยมาใช้ได้” เชษฐาสรุป

 

เขาเล่าให้ฟังว่า ที่อเมริกาต่างจากยุโรปตรงที่ ในอเมริกา ผู้ที่มาอยู่ในงานวิจัยหรือผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเป็นคนในประเทศนั้นๆ ซึ่งต่างจากกลุ่มในประเทศยุโรป

“ ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของเราเข้าไปอยู่ในการรับรองมาตรฐาน FDA สหรัฐฯแล้ว 2 ตัวคือเรื่องแผ่นปิดกะโหลก และการซ่อมแซมใบหน้า” เชษฐาพูดด้วยสีหน้าและแววตาที่ภาคภูมิใจ

.

.

.

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ‘แผ่นปิดกะโหลก’ ของเมติคูลี่ ได้รับการอนุมัติให้ใช้ใน ‘สิทธิบัตรทอง’ ของประเทศไทย

 

เบื้องลึก! กว่า ‘แผ่นปิดกะโหลกไทย’ ผ่าน U.S.FDA และรพ.ดังใน Netflix ยอมรับ

 

ความฝันที่อยากจะ ‘นำเงินจากคนรวยไปช่วยคนจน’ ดูเหมือนจะใกล้ความสำเร็จแล้ว

เพียงแต่พวกเขายังต้องผ่านด่านที่สำคัญ แม้ว่าจะได้มาตรฐาน FDA จากสหรัฐ แต่ไม่ได้หมายความว่า โรงพยาบาลในสหรัฐฯจะยอมรับและนำมาใช้

 

วนกลับไปที่จุดเดิม

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ได้ยาก แต่การทำให้แพทย์เชื่อใจและใช้ผลิตภัณฑ์นั้นยากกว่า

 

‘เชษฐา’ และเพื่อนบินตรงสู่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พวกเขาเลือกแล้วที่จะนำผลงานไปพิสูจน์กับกลุ่มแพทย์ที่เรียกว่ามาตรฐานสูงที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ

'โรงพยาบาล Lenox Hill' ซึ่งหากใครจำได้คือโรงพยาบาลชื่อดังที่ปรากฎอยู่ในสารคดีเรื่องเยี่ยมใน Netflix

 

“ผมติดต่อโดยตรง เข้าไปแบบลูกทุ่ง ไม่มีใครรู้จักที่นั่น แต่เลือกเพราะว่าที่นี่จะเป็นตัววัดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของเรา”

 

และฟีดแบ็คแรกที่กลับมาคือ

‘Why Thailand?’ ง่ายๆ คือทำไมต้องเป็นของชิ้นนี้ที่มาจากประเทศไทย พร้อมกับมอบบทพิสูจน์สุดหินมาให้!

 

เบื้องลึก! กว่า ‘แผ่นปิดกะโหลกไทย’ ผ่าน U.S.FDA และรพ.ดังใน Netflix ยอมรับ

 

ติดตามต่อใน  เบื้องลึก! กว่า ‘กะโหลกไทเทเนียมไทย’ ผ่าน U.S.FDA และรพ.ดังใน Netfilx ยอมรับ (2)