posttoday

เป็นไปได้? ไทยต้องการแรงงานจีนเป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร!

04 มีนาคม 2568

เมื่อไทยอยู่ในจุดที่ต้องการ 'แรงงานจีน' เป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร! เพราะอะไร? กับบทสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหิดล

ประโยคสรุปจบรายงานพิเศษที่จะได้อ่านต่อไปนี้ คือ

‘ธุรกิจผลิตแรงงานไทยจำเป็นต้องเปิดรับทุนจีน-นักศึกษา-แรงงานจีน’

.

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น!

 

ใน 'เด็กเกิดต่ำ' ตอกฝาโลงธุรกิจโรงเรียนไทย ทำไมต้องพึ่ง 'ทุนจีน'? โพสต์ทูเดย์ พบว่าธุรกิจโรงเรียนเอกชน - นานาชาติในไทย พึ่งทุนจีนและนักเรียนจีนอยู่มาก จากปัญหาเด็กเกิดใหม่ในไทยน้อย แต่ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อเรียนจบเป้าหมายต่อไปคือภาคแรงงาน แล้วภาคแรงงานไทยต้องการทุนจีนและแรงงานจีนมากน้อยเพียงใด?

 

02

‘นักเรียนจีน-แรงงานจีน’ อีกหนึ่งข้อถกเถียง ‘ไทย’ ต้องการหรือไม่?

 

มันเป็นเรื่องที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งมาโดยตลอด

วิกฤตประชากรและจำนวนคนเกิดที่ลดลง ได้ส่งผลต่อ ‘ธุรกิจโรงเรียน’ แล้ว ณ วันนี้โดยที่รัฐบาลไทยยังไม่มีหนทางแก้ไขที่จริงจัง 

การเข้ามาของ ‘ทุนจีน’ มหาศาลที่พ่วงกับ ‘นักเรียนจีน’ สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มธุรกิจให้อยู่รอดไปได้

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักประชากรศาสตร์ มองว่าการเข้ามาของนักเรียนจีนที่สามารถจบมาเป็นแรงงานในไทย มีประโยชน์มากกว่านั้น

ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ อาจารย์จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ฉายภาพให้โพสต์ทูเดย์เห็นประเทศไทยในอีก 100 ปีข้างหน้า จากการที่ประชากรไทยลดลงราวแสนคนต่อปี ซึ่งมาจากการทำ Population Projection ของสถาบันฯ ว่า  ประชากรไทยจะลดเหลือ 32 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่งของปัจจุบันหากไม่ทำอะไรเลย และครึ่งหนึ่งที่เหลือนั้นคือผู้สูงวัยจำนวนมาก

 

‘ปัญหาคือ เศรษฐกิจจะล้มละลายเพราะไม่มีใครทำงาน มีแต่คนแก่ที่ต้องเลี้ยงดูกัน แต่รัฐบาลไม่มีรายได้เพราะไม่สามารถเก็บภาษีได้’

 

ประเทศไทยจึงยังต้องการแรงงานต่างชาติมากกว่านี้อีกหลายสิบเท่า! จะจีนก็ได้ มิเช่นนั้นประเทศไทยจะมีสภาพเศรษฐกิจที่ล้มละลาย

ในปี 2568 พบว่ามีนักเรียนจีนเข้ามาศึกษายังประเทศไทยราว 28,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงบางส่วนที่เข้าสู่ระบบแรงงานในไทย และจากข้อมูลประกันสังคม เดือนธันวาคม ปี 2567 พบว่ามีแรงงานจีนทำงานในไทยราว 20,895 คน

 

ปัญหาอีกประการที่สำคัญคือ ประเทศไทยเน้นรับแรงงานที่ไม่มีทักษะจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งแก้ปัญหาขาดแคลนเฉพาะหน้าได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ  เพราะการจะพัฒนาสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต้องมีอุตสาหกรรมไฮเทค หรือคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลจำนวนมาก

 

เป็นไปได้? ไทยต้องการแรงงานจีนเป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร!

 

จากสถิติในปี 2567 พบว่า อัตราส่วนแรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือต่อจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตมีจำนวน 5.92% ในขณะที่อัตราส่วนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) คือ 94.46% และในนี้เป็นการนำเข้าต่างด้าวตามมาตรา 63 คือ คนต่างด้าวที่ถูกเนรเทศ ถูกถอนสัญชาติ เกิดในราชอาณาจักรแต่ ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร เกือบร้อยละ 50

 

‘ ที่ผ่านมาหากโรงงานญี่ปุ่นต้องการตั้งฐานการผลิตที่ไทย และเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ต้องใช้แรงงานทักษะสูง จะต้องใช้เวลาในการรับสมัครคนถึง 3 เดือนซึ่งช้าเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามที่สามารถมีแรงงานทักษะเหล่านี้จำนวนมหาศาลป้อนสู่ระบบได้ทันที’ ผศ.ดร.สักกรินทร์ให้ข้อมูล

 

จากสถิติพบว่าประเทศไทยยังต้องการแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงเพื่อมาเติมเต็มตำแหน่งในปี 2567-2573 อีกเกือบ 5 แสนคน แต่ทุกปีไม่สามารถผลิตได้ ทำได้แค่เพียงหลักพันคนซึ่งหากสะสมไปเรื่อยๆ อาจจะสูงถึงหลักล้านก็เป็นได้ และจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ชาติอื่น

 

 

เป็นไปได้? ไทยต้องการแรงงานจีนเป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร!

 

ตัวเลขผลกระทบการขาดแคลนแรงงานต่อมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรายสาขาในปี 2567-2573 ชี้ว่า

 

สาขาอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี   

  • ขาดแคลนแรงงานทักษะสูง  80,000 - 100,000 คน
  • มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจลดลง 15-20%

 

สาขาการผลิตยานยนต์

  • ขาดแคลนวิศวกรและช่างเทคนิค  50,000 - 70,000 คน
  • มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจลดลง 10-15%

 

สาขาเกษตรอุตสาหกรรม

  • ขาดแคลนแรงงานทดแทนและทักษะใหม่  40,000 - 55,000 คน
  • มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจลดลง 8-12%

 

สาขาการท่องเที่ยวและบริการ

  • ขาดแคลนบุคลากรนานาชาติ  40,000 - 55,000 คน
  • มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจลดลง 12-18%

 

‘ ถ้าเรามองว่าแรงงานที่มีทักษะคือคนที่จบปริญญาตรีขึ้นไป ในแง่นี้นักศึกษาจีนถ้าจบในประเทศไทย เราเรียกว่าเป็นแรงงานทักษะ ในหลายประเทศจะอนุญาตให้อยู่ต่อและทำงานได้ เช่น ญี่ปุ่นอยู่ได้ 1 ปี เป็นต้น และเมื่ออยู่ก็ได้วีซ่าทำงาน อยู่ไปสักพักอย่างสิงคโปร์ ก็จะจ้างคนจีนมาเรียนเลย หาคนเก่งๆ มาเรียน ให้ทุนมหาศาลและเรียนเสร็จให้ทำงานเลย’

 

เป็นไปได้? ไทยต้องการแรงงานจีนเป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร!

 

ผศ.ดร.สักกรินทร์ ยังมองว่า 'แผนแม่บท' ที่จะส่งเสริม กำหนดกฎเกณฑ์ และประเมินแรงงานทักษะสูงเหล่านี้ คือ หัวใจสำคัญที่ประเทศไทยไม่เคยมี  อาจารย์ย้ำว่าประเทศไทยมีแต่กฎหมายที่ดูแลแรงงานไร้ทักษะ แต่ไร้นโยบายที่จะดึงดูดคนมีทักษะสูงให้มาอยู่ในประเทศไทยได้ไม่ใช่เฉพาะแค่คนจีน!

 

 

03

ความพยายามของประเทศไทยที่ผ่านมา

 

ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะเข้ามายังประเทศ กลไกหลักที่ถูกนำมาใช้คือประเภทของวีซ่าชนิดต่างๆ ดังนี้

 

ในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทยเคยมี Smart Visa ดึงดูดบุคลากรจากต่างชาติ เช่น นักลงทุน ผู้เริ่มธุรกิจใหม่ พนักงานที่มีความสามารถ และผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคนิค  เข้ามาในไทย โดยผู้ที่ยื่นขอได้คือ นักลงทุน ผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ พนักงานทักษะสูงหรือผู้บริหารระดับสูง

‘แต่เงื่อนไขการขอวีซ่าตัวนี้ยุ่งยากและจุกจิก มีคนสมัครแค่ 2-3 พันคนจากเป้าหมายเป็นแสน แทนที่จะดึงดูดกลายเป็นตั้งด่านบล็อค คนที่ผ่านคือคนที่ทำงานในไทยอยู่แล้วและเปลี่ยนประเภทวีซ่า แทนที่จะดึงดูดคนมีทักษะในประเทศ’  อาจารย์สักกรินทร์แสดงความเห็น

 

ต่อมาคือ LTR  วีซ่า (Long – Term Resident Visa) ในรัฐบาลของอดีตนายกเศรษฐา ก็ให้แก่คน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่าประเทศ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

‘ วีซ่านี้มีเงื่อนไขดีกว่าตัวเดิม ระยะเวลานานขึ้น ครอบคลุมกลุ่มคนต่างๆ มากขึ้น มีคนสมัครมากขึ้นแต่ว่าวีซ่าชนิดนี้ก็จะเน้นคนทำงานบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ เน้นคนทำงานในกูเกิ้ล อเมซอน ซึ่งไม่ใช่คนทำงานทั่วไป’

 

ภายหลังได้มีการเปลี่ยนมาเป็น DTV หรือ Destination Thailand Visa ซึ่งเน้นวีซาให้แก่ผู้ทำงานทางไกล นักเดินทางดิจิทัลโดยเฉพาะ มีกำหนดให้ 5 ปี แต่ว่าเมื่อครบ 6 เดือนจะต้องออกไปนอกประเทศและกลับมาใหม่ เพราะหากอยู่เกิน 180 วันจะต้องเสียภาษีให้ประเทศไทย

‘ เขาต้องการดึงดูดดิจิทัลนอร์แมด ที่เสียภาษีให้ต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย เพื่อให้คนเหล่านี้มาอยู่ในไทยแล้วเกิดสปินโอเวอร์ อย่างเช่น ซิลิคอนวัลเลย์ ที่ก็เกิดจากการรวมกลุ่มของสตาร์ทอัพจนเกิดอุตสาหกรรมสมัยใหม่ขึ้นมาในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งวีซ่านี้มีคนสนใจเยอะและตอบโจทย์ แต่ ผมคิดว่ายังไม่พอ

 

สวนทางกับกระแสสังคมที่ดูเหมือนกำลังถกเถียงกันอยู่ที่จุดสตาร์ท ว่า ‘นักเรียนจีน’ ที่เข้ามาเรียนและกลายเป็น 'แรงงาน'ในไทยนั้นดีกับคนไทยหรือไม่? จนทำให้เกิดรายงานพิเศษชิ้นนี้ที่ชวนมองอีกมุมหนึ่งของประเด็นปัญหา เมื่ออาจารย์สักกรินทร์มองว่า

สิ่งที่ประเทศไทยต้องการตอนนี้คือ ‘คนหนุ่ม-สาว’ ที่เงินเดือนไม่แพงมากแต่มาทำงานเป็นแรงงานในไทย และประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่ต้องมี 'นโยบายรับคนต่างชาติมาเป็นประชากรของประเทศอย่างถาวรแม้แต่คนจีนก็ตาม '

ไม่ใช่แค่เพียงให้ใบอนุญาตทำงานชั่วคราวที่ไม่อนุญาตให้ตั้งถิ่นฐาน  ซึ่งโพสต์ทูเดย์จะตามต่อในตอนต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ประโยคหนึ่งระหว่างบทสนทนาที่สะกิดใจนัก คือเมื่อโพสต์ทูเดย์ถามว่า

ควรกีดกันนักเรียนจีนที่จบมาและทำงานหรือไม่’

อาจารย์สักกรินทร์มองว่า ไม่ควรใช้ประเด็นความมั่นคงเพียงมิติเดียว ในการกำหนดกรอบความคิดการพัฒนาของประเทศ ปัญหาของจีนเทานั้นล้วนแล้วแต่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายแทบทั้งสิ้น

 

‘ ความมั่นคงเป็นเพียงมิติหนึ่ง แต่ไม่ใช่มิติที่จะกําหนดกรอบความคิดของการพัฒนาประเทศ

เราต้องมีมิติทางเศรษฐกิจ สังคมเข้ามาประกอบกัน’

 

เป็นไปได้? ไทยต้องการแรงงานจีนเป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร!