posttoday

เจาะโมเดลเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า ‘ญี่ปุ่น’ ลดความสูญเสีย!

29 มีนาคม 2568

เจาะโมเดลเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า ‘ญี่ปุ่น’ โอกาสเพียงแค่ระดับวินาที คือสิ่งที่พวกเขาคว้าไว้ เพื่อลดระดับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ญี่ปุ่นทำอย่างไร?

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA เป็นหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบด้านการพยากรณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมไปถึงแผ่นดินไหว

เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ ‘วงแหวนแห่งไฟ’ ซึ่งมีการขยับของแผ่นเปลือกโลกอย่างรุนแรง จึงทำให้ญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดในโลก ซึ่งโดยสถิติแล้วอาจจะมีถึง 1,500 ครั้งต่อไป และถ้าหากเป็นแผ่นดินไหวที่ระดับรุนแรงขนาด 6.0 ขึ้นไปจะเกิดเฉลี่ยปีละ 10-20 ครั้งต่อปี

ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่หามาตรการและมีวิจัยเกี่ยวข้องกับการรับมือแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  และ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ออกแบบระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าที่เรียกว่า EEW

 

ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าของญี่ปุ่น (EEW) ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ตรวจจับคลื่น P หรือ Primary wave ซึ่งเป็นคลื่นแรกของแผ่นดินไหว ตามปกติแผ่นดินไหวจะปลดปล่อยพลังงานที่สะสมออกมาในรูปของคลื่นไหวสะเทือน ประกอบด้วยคลื่น 2  แบบ  คือ คลื่นในตัวกลาง และคลื่นพื้นผิว

 

สำหรับคลื่นในตัวกลางนั้น ได้แก่ คลื่น P และคลื่น S  ซึ่งคลื่น P จะมีความเร็วราว 6-7 กิโลเมตร/วินาที ส่วนคลื่น S จะมีความเร็ว 3-4 กิโลเมตร/วินาที  ความต่างนอกจากความเร็วการเคลื่อนที่ซึ่งคลื่น P จะเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแล้วนั้น คลื่น P ยังก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงน้อยกว่า ก่อนที่คลื่น S จะเข้ามาปะทะซึ่งเป็นคลื่นที่อาจทำให้โครงสร้างของอาคารเสียหายได้

 

คลื่น P และคลื่น S

 

ส่วนคลื่นพื้นผิว จะเดินทางช้ากว่าคลื่นในตัวกลาง คือ P กับ S เข้าไปอีก แต่คลื่นชนิดนี้มีความอันตรายมากกว่า เพราะอาจทำให้ถนนขาด แม่น้ำเปลี่ยนทิศทางการไหล พื้นผิวแตกร้าว และอาคารที่ปลูกอยู่เสียหาย

 

ประเทศญี่ปุ่น จึงคิดค้นการตรวจจับคลื่น P เพราะเชื่อว่าหากรู้ว่าคลื่น P มาถึงจะสามารถป้องกันภัยพิบัติจากคลื่นอื่นๆ ที่ตามมาหลังจากนั้นได้มากกว่า และพวกเขาก็ทำได้สำเร็จ! ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ที่ตรวจจับคลื่น P และคำนวณขนาดและตำแหน่งของแผ่นดินไหวอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะประเมินความรุนแรง

 

ภาพอธิบายของผลกระทบจากคลื่น P และ S จาก JMA

 

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่น ยังได้กล่าวถึงข้อจำกัดของระบบนี้ ได้แก่

  • ระยะเวลาการแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนการเข้ามาของคลื่นที่จะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรงนั้น อยู่ที่ระดับ ‘วินาที’ ( อยู่ในช่วง 5-60 วินาที ) และในพื้นที่ที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว การแจ้งเตือนดังกล่าวไม่สามารถส่งถึงก่อน เพราะจะรวดเร็วมาก
  • สัญญาณเตือนอาจผิดพลาดได้ เนื่องจากสัญญาณรบกวนจากอุบัติเหตุ ฟ้าผ่า หรือความล้มเหลวของอุปกรณ์
  • การคาดคะเนว่าแผ่นดินไหวจะรุนแรงมากน้อยเพียงไหน ยังมีข้อจำกัดเรื่องความแม่นยำ

 

แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีการจับสัญญาณคลื่น P ได้แต่ญี่ปุ่นรู้ดีว่า ไม่สามารถป้องกันความเสียหายได้ทั้งหมด สิ่งสำคัญของการลดความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหว จึงต้องมีทั้งการพัฒนาทั้งระบบ

 

ตั้งแต่ระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้า การพัฒนาความแข็งแรงของโครงการก่อสร้าง รวมไปถึงสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ว่าระยะเวลาไม่กี่วินาทีนั้น ควรทำอย่างไร?

 

ดังที่ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้เผยถึงวัตถุประสงค์ของระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าเอาไว้ว่า เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถใช้มาตรการรับมือได้ทันเวลา

 

คนญี่ปุ่นอพยพเมื่อได้รับสัญญาณเตือนแผ่นดินไหว

 

มาตรการรับมือสำคัญที่คนญี่ปุ่นใช้ ‘เซฟ’ ตัวเอง อ้างอิงจาก JMA

 

หากอยู่ที่บ้าน

  • หลบใต้โต๊ะ เพื่อป้องกันของจะตกหล่นใส่ตนเอง
  • อย่ารีบวิ่งออกไปข้างนอก
  • ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการปิดแก๊สในห้องครัว

 

หากขับรถ

  • อย่าหยุดรถทันที
  • ให้เปิดไฟฉุกเฉินเพื่อบอกรถคันอื่น และค่อยๆ จอดรถช้าๆ โดยที่ประเทศญี่ปุ่นมีการระบุว่าให้จอดรถทางซ้าย

 

หากอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

  • ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  • อย่ารีบกรูกันไปที่ทางออก

 

หากอยู่ข้างนอก

  • ระวังกำแพงหรือคอนกรีตที่อาจจะพังถล่มลงมา
  • ระวังป้าย และเศษกระจกที่จะแตกลงมา

 

หากอยู่ในลิฟต์

  • ให้หยุดลิฟต์ชั้นที่ใกล้ที่สุด และออกมาจากลิฟต์ทันที

 

หากอยู่บนรถบัสหรือรถไฟฟ้า

  • ให้จับเสาหรือรัดเข็มขัดให้มั่น

 

นอกจากนี้ มาตรการของรถไฟชินคังเซ็นของญี่ปุ่น จะลดความเร็วและหยุดรถไฟทันทีเมื่อได้รับสัญญาณเตือนภัยแผ่นดินไหว ซึ่งใช้ตัวเดียวกับ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น คือตรวจจับค่า P อีกทั้งตั้งแต่การก่อสร้างรางจะสามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ซึ่งปรากฎว่าไม่มีรถไฟตกรางขณะเกิดแผ่นดินไหว แม้ว่าจะเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างในปี 2011 ก็ตาม

.

.

.

 

 

การลงทุนระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว EEW ของญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงมาก แค่เพียงการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับก็อาจสูงถึง 10 ล้านบาทต่อสถานีเข้าไปแล้ว แต่เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดแผ่นดินไหวก็ถือว่ามีความจำเป็นและคุ้มค่าสำหรับประเทศของเขา

 

"สำหรับประเทศไทย" แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในแนวรอยเลื่อนหลักของแผ่นเปลือกโลก แต่ก็จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง ประเทศไทยมีความเสี่ยงการเกิดแผ่นดินไหวต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น และแผ่นดินไหวแต่ละครั้งไม่ได้รุนแรงหรืออันตราย

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้  สะท้อนให้เห็นว่า ‘คนไทย’ ไม่มีองค์ความรู้เป็นเครื่องมือที่จะปกป้องตนเองเลย

ตั้งแต่การแจ้งเตือนของรัฐบาลที่มีความล่าช้า ไม่บอกว่าต้องทำอะไร อย่างไร เพื่อลดความวิตกของประชาชน

อาคารแต่ละที่มีการจัดการล่าช้า จนทำให้บางคนไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้อย่างที่ใจคิด 

ไม่รวมถึงองค์ความรู้ที่ติดตัวประชาชนเพื่อลดความอันตรายของตัวเองลง เพราะเมื่อวานยังมีหลายคนที่คิดว่าตนเองป่วย ไม่ได้คิดว่าเป็นเพราะแผ่นดินไหว ซึ่งช่วงเวลาที่คิดอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาสำคัญของการหลบภัยมากที่สุด 

จึงเป็นเรื่องน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะทุกวันนี้ในวันที่ ‘โลก’ มีความเปลี่ยนแปลงสูง และภัยพิบัติเข้าใกล้เรามากขึ้นอย่างที่ไม่รู้ตัว

 

อีกทั้ง มาตรการต่างๆ ทั้งเรื่องโครงสร้างอาคาร โครงสร้างระบบสาธารณะ และระบบบริหารจัดการหลังเกิดภัยพิบัติของหน่วยงานรัฐ  แม้ว่าเราจะมีโอกาสเจอแผ่นดินไหวรุนแรงน้อย การไหวแต่ละครั้งถ้าเป็นที่อื่นก็ไม่อันตราย  แต่ทำไมเมื่อเกิดที่ประเทศไทย แต่ละครั้งเราต้อง ‘สูญเสีย’ มากอย่างที่ควรจะป้องกันได้เล่า! หรือเราไม่เคยได้รับบทเรียนใดๆ

 

แผ่นดินไหวในไทยจนทำให้ตึกสตง.ถล่ม

 

เมื่อย้อนไป

20 ปีก่อน เรามีบทเรียนความสูญเสียจากสึนามิปี 2547 โดยเฉพาะความตระหนักรู้เรื่องภัยพิบัติของผู้คน

10 ปีต่อมา เรามีบทเรียนจากแผ่นดินไหวเชียงราย ในปี 2557  ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดในไทย ที่ทำให้คนไทยต้องลุกมาทำเรื่องมาตรฐานก่อสร้างที่ต้านแผ่นดินไหวได้อย่างจริงจัง

และปีนี้ เราก็ยังคงสูญเสีย เช่นเดิม!

 

 

ข้อมูล

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่น

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์