ติดตั้ง 'ตู้ห่วงใย' ต่างจังหวัดอีก 9 จุด! สธ.อวดใช้บริการเกินคาด

06 เมษายน 2568

ขยายจากกทม. สู่ต่างจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข ติดตั้ง 'ตู้ห่วงใย' เพิ่ม 9 จุด อวดที่ผ่านมาประชาชนเข้ารับบริการเกินคาดหมาย มั่นใจลดความแออัดในโรงพยาบาล

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากที่มีการนำร่องติดตั้ง “ตู้ห่วงใย” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 จุด ประกอบด้วย

  1. สหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ เขตจตุจักร
  2. อาคารทัช บิลดิ้ง เขตห้วยขวาง
  3. เคหะห้วยขวาง เขตดินแดง
  4. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (ขาออก)
  5. โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า  

โดยเฉพาะในโรงพยาบลพระนั่งเกล้า  ซึ่งเป็นการติดตั้งเพื่อนำมาใช้แทนการรอพบแพทย์หน้าห้องตรวจ ทำให้ประชาชนเข้ารับบริการเกินความคาดหมาย เพราะร้อยละ 80 ของผู้มาโรงพยาบาล มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อประชาชนไปรับบริการที่ตู้นี้แทน ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดระยะเวลาในการรอคอยพบแพทย์ รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ประชาชนสะดวกมากยิ่งขึ้น

สำหรับตู้ห่วงใยในแต่ละจุดเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 - 20.00 น. ทุกวัน ตรวจรักษาครอบคลุม 42 อาการหรือกลุ่มโรค สามารถรับบริการตรวจสุขภาพ พบหมอผ่านระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine และรับยาฟรี ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.67 เป็นต้นมา ก็พบว่าผู้ป่วยที่มาใช้บริการส่วนใหญ่ ป่วยเป็นไข้หวัด กล้ามเนื้อเคล็ด ปวดศีรษะ อาการท้องร่วง กระเพาะและลำไส้อักเสบ คออักเสบเฉียบพลัน และโรคอื่นๆ

 

ติดตั้ง \'ตู้ห่วงใย\' ต่างจังหวัดอีก 9 จุด!  สธ.อวดใช้บริการเกินคาด

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีการตอบรับที่ดีจากประชาชน ตนได้เร่งรัดให้ติดตั้งเพิ่มในต่างจังหวัดอีก 9 จุด ซึ่งจะติดตั้งในโรงพยาบาล (โดยมีกำหนดการติดตั้งตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา) และบางแห่งอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยบริการ อาทิ โรงพยาบาลปทุมธานี  โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช  โรงพยาบาลพระพุทธบาล  โรงพยาบาลนครนายก  มหาวิทยาลัยมหิดล  วิทยาเขตศาลายา โรงพยาบาลเสนา เป็นต้น และจะขยายผลไปยัง โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กว่า 900 แห่ง ทั่วประเทศต่อไป

ส่วนในกรณีติดตั้งในชุมชมนั้น จะมีการพิจารณาความพร้อมในชุมชนว่าสามารถช่วยกันดูแลตู้ห่วงใยให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่เสียหายหรือสกปรก เพื่อทำให้บริการนี้มีความยั่งยืนในระยะยาวได้หรือไม่ ซึ่งเราจะทำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงแน่นอน เพื่อให้บริการประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะยกระดับระบบสาธารณสุข จาก “30 บาทรักษาทุกโรค ”มาเป็น” 30 บาทรักษาทุกที่“ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดเวลา และค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยตู้ห่วงใยเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสุขภาพ ที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ 
 
“ผมมั่นใจว่า ตู้ห่วงใย จะช่วยในเรื่องผู้ป่วยนอกล้นโรงพยาบาล เจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถเข้าตู้พบแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคผ่านระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ได้ทันที ไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปเข้าคิวรอพบแพทย์ อีกทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรได้เป็นอย่างดี รัฐบาลโดยกระทรวงสามารถมุ่งหวังให้พี่น้องประชาชน ได้รับบริการอย่างสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงบริการได้โดยง่าย” นายสมศักดิ์ กล่าว

 

ติดตั้ง \'ตู้ห่วงใย\' ต่างจังหวัดอีก 9 จุด!  สธ.อวดใช้บริการเกินคาด

 

ตู้ห่วงใย สามารถเข้าไปปรึกษาได้ ครอบคลุม 42 กลุ่มอาการ / กลุ่มโรค ดังนี้

1.ข้อเสื่อมหลายข้อ
2.ตาแดงจากไวรัส
3.ตาแดงจากไวรัส ที่มิได้มีรหัสระบุรายละเอียด
4.ข้อเสื่อมโดยทั่วไปปฐมภูมิ
5.เนื้อเยื่ออักเสบ
6.วิงเวียน มึน
7.ปวดศีรษะ
8.อาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรียอื่น
9.อาการท้องร่วง
10.กระเพาะและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ
11.ไข้ไม่ทราบสาเหตุ
12.ความผิดปกติของระบบการทรงตัวของหู
13.โรคตากุ้งยิงและตุ่มอักเสบเรื้อรังที่หนังตา 
14.การอักเสบของเยื่อบุตา
15.การติดเชื้อไวรัส ที่มิได้ระบุรายละเอียด
16.กล้ามเนื้อเคล็ด
17.ติดเชื้อไวรัสไม่ระบุตำแหน่งที่เป็น
18.ข้ออักเสบข้อเดียว ที่มิได้มีระบุรายละเอียด
19.เยื่อบุจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (หวัดธรรมดา)
20.ไข้ ไม่ระบุชนิด
21.เวียนศีรษะบ้านหมุนเฉียบพลัน แบบไม่รุนแรง
22.ปวดท้องช่วงบน 
23.การติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบนแบบเฉียบพลันหลายแห่งพร้อมกัน
24.ลมพิษ
25.ปวดท้อง และปวดอุ้งเชิงกราน
26.เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด
27.ลมพิษ ที่มิได้ระบุรายละเอียด 
28.ปวดหลังส่วนล่าง
29.คออักเสบเฉียบพลัน
30.ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน
31.คออักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด
32.การติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบนแบบเฉียบพลัน 
33.กระเพาะอาหารอักเสบ ที่มิได้ระบุรายละเอียด
34.อาการปวดท้องอื่น ๆ และอาการปวดท้องที่ไม่ระบุ
35.ข้ออักเสบหลายข้อ ที่มิได้ระบุรายละเอียด
36.ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด
37.เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้ ที่มิได้ระบุรายละเอียด ปวดกล้ามเนื้อ
38.เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้หรือการเปลี่ยนอากาศ
39.ข้ออักเสบแบบอื่น
40.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
41.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด และ
42.การติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย

Thailand Web Stat