ส.อ.ท.ชี้สินค้าเกษตรฮีโร่ส่งออก ชูนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า สู้ต่างชาติ
ส.อ.ท.เดินหน้านำร่องโครงการเกษตรอัจฉริยะ นำนวัตกรรมผสานวัตถุดิบ ปลูกสมุนไพร ต่อยอดสู่ยาและอาหารเพื่อสุขภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก หนีการแข่งขันด้านราคา
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า 1 ใน 46 อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ และเกิดการจ้างงานจำนวนมากคือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านการเพาะปลูก ทั้งเรื่องน้ำ ดิน และสภาพอากาศ ซึ่งยอดการส่งออกปี 2566 อยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท พบว่าติดลบ 1-2 % แต่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 5.5% ดังนั้นอุตสาหกรรมฮีโร่ของการส่งออกคือ กลุ่มสินค้าอาหาร และ การเกษตร ทว่าที่ผ่านมา วัตถุดิบด้านการเกษตรของประเทศไทยที่ผ่านมานั้นเน้นการส่งออกเพียงวัตุดิบ หรือ รับจ้างผลิต เพื่อให้ต่างชาตินำไปผลิตและกลับมาขายในประเทศไทยราคาแพง
ดังนั้น ส.อ.ท.จึงมีนโยบายในการเปลี่ยนวัตถุดิบด้านการเกษตรให้กลายเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม โดยร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส.อ.ท.ท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการนำร่องนำสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า หนีการแข่งขัน ด้วยการให้จับคู่กับภาคเอกชนที่มีตลาดรองรับหนุนกำลังการผลิตในการส่งออกต่อไป
นายเกรียงไกร กล่าวว่า เร็วๆนี้ จะมีโครงการนำร่องที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในพื้นที่เขตจอมทอง ในการทำงานร่วมกับคนพื้นที่ในการปลูกสมุนไพร โดยจะมีการกำหนดสมุนไพรที่ต้องการว่าเป็นชนิดไหน ปริมาณเท่าไหร่ อย่างชัดเจน เพื่อเป้าหมายในการนำไปผลิตเป็นยาและอาหารเพื่อสุขภาพต่อไป
อย่างไรก็ตาม การทำงานดังกล่าว สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกที่ตื่นตัวเรื่องสุขภาพ การซื้ออาหารต้องสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึงกระบวนการผลิต มีการคัดแยกอย่างไร ใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ตามนโยบาย Net Zero หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมทำงานตามโมเดล BCG ด้วยหรือไม่
โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) โดยมี 8 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้กลายเป็นเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ 1.กลุ่มสมุนไพร 2.กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ 3.กลุ่มเครื่องสำอาง 4.กลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 5.กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6.กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และ 8.กลุ่มอาหาร