ดีพร้อม ทุ่มงบ 100 ล้านบาท สนับสนุน SME สู่โมเดล BCG
ดีพร้อม เตรียมงบ BCG ปี 67 จำนวน 100 ล้านบาท สนับสนุน SME ประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ตั้งเป้าผู้ประกอบการเข้าร่วม 1,800 ราย เตรียมเปิดโครงการมิ.ย.นี้
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2567 ดีพร้อมได้รับงบประมาณในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SME ไปสู่การประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จำนวน 100 ล้านบาท โดยในเดือนมิ.ย.นี้ จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ ตั้งเป้าผู้ประกอบการเข้าร่วม 1,800 ราย สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินการปี 2567 ของดีพร้อม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY)
เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกร้อนขึ้น ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ความเสี่ยงอีก 10 ปีข้างหน้า 3 อันดับแรก จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ และ การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ความท้าทายเหล่านี้จึงกลายเป็นนโยบายสำคัญของดีพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยสิ่งที่ธุรกิจต้องปรับนั้ คือ ทางรอด ไม่ใช่ ทางเลือก ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการให้ความสำคัญเรื่อง BCG และมีความต้องการในการปรับเปลี่ยนธุรกิจมากขึ้น
โครงการของ ดีพร้อม เน้น SME ขนาดกลางที่มีการส่งออก ก่อน เพราะมีความพร้อม และต้องทำตามกติกาโลก เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่นโยบายในประเทศไทย แต่เป็นนโยบายทั่วโลก ส่วน SME ขนาดเล็ก ดีพร้อมจะเน้นการให้ความรู้ และการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับเรื่อง BCG ดังนั้น SME ที่ต้องการเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกในการทำ BCG ควรเริ่มจากการใช้พลังงานสะอาดก่อน เช่น พลังงงานแสงอาทิตย์ รวมถึงต้องตระหนักรู้ว่าในกระบวนการผลิตของตนเองสามารถลดการสูญเสีย หรือ ลดการปล่อยของเสียได้บ้าง หากเริ่มทำจากตรงนี้ก่อน เชื่อว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 10 %
สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ดีพร้อม นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินธุรกิจ ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย แนวคิดทางเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้แก่
1. Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (สมุนไพร ซูเปอร์ฟู้ดเส้นใย) รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพืชเศรษฐกิจ
2. Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรจนนำไปสู่ Zero Waste
3. Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) การพัฒนาที่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 10% และเชื่อมโยงสู่การขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม (CFO, CFP)
ขณะที่นโยบายดีพร้อมปี 2567 ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ที่สำคัญ คือ 1. ปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DIGITAL TRANSFORMATION) ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ได้รับฟังข้อคิดเห็นและปัญหาจากสมาคมเครือข่ายและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และสนับสนุน เพื่อจัดทำแผนการส่งเสริมให้ได้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในความคืบหน้าที่สำคัญ คือ การทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของประเทศญี่ปุ่น ในการนำผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีด้านยานยนต์เข้ามาช่วยพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมถึงมีความพร้อมรองรับการผลิตชิ้นส่วนที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้
อีกทั้ง ยังได้หารือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อบูรณาการผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมอวกาศจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงในทุก ๆ ด้าน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพด้วยการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยในช่วงกลางปี 2567 ดีพร้อม เตรียมเปิดตัวโครงการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงทีด้วย อาทิ สถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมโดยรวม
2. ปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) ผ่านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (ECONOMIC CORRIDOR) ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลักดันนโยบายการพัฒนาโกโก้สู่การเป็น ASEAN COCOA HUB เนื่องจากโกโก้เป็นผลผลิตการเกษตรที่มีมูลค่าสูงและยังเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอาหารซุปเปอร์ฟู้ดที่เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญในการยกระดับจากการเป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูป ไปสู่ผู้นำในการผลิตอาหารซุปเปอร์ฟู้ด โดยจะใช้ศักยภาพด้านการเกษตรที่แข็งแกร่งของไทยบวกกับความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีในการผลิตอาหารแปรรูป จึงทำให้ไทยมีโอกาสสูงในด้านการเป็น ASEAN COCOA HUB ในอนาคตอันใกล้นี้
นอกจากนี้ ยังได้ปรับแนวทางการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนภายใต้แนวคิด “ชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชน ให้ดีพร้อม” (Community Transformation) โดยได้ร่วมมือกับ Toyota ยกระดับการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบการบริหารจัดการกระบวนการผลิตด้วยหลักการ Toyota Production System (TPS) ซึ่งหลัง จากนี้ ดีพร้อมจะต่อยอดขยายความร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ทั้งของไทยและบริษัทข้ามชาติ เพื่อร่วมมือพัฒนา ธุรกิจชุมชนมากขึ้นทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ และช่องทางการตลาด ตลอดจนการจัดงานแฟร์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ อาทิ อุตสาหกรรมแฟร์
3. ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (RESHAPE THE ACCESSIBILITY) ผ่านการสนับสนุนการเข้าถึง แหล่งเงินทุน (FINANCIAL INCLUSION) โดยพัฒนากลไกการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม SMEs ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ SME ผ่านทางโครงการ "ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้" โดยได้ร่วมมือกับ 5 สถาบันการเงิน ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ ดีพร้อม และ บสย. ร่วมกันพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลพิจารณาเบื้องต้น ภายใน 7 วันทำการ โดยคาดว่าจะมี SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้วงเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และสามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุง/พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลให้ลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อเชื่อมโยงผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือนี้จะทำให้นักวิจัยและ ผู้ประกอบการได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด ด้วยการนำผลการวิจัยมาปรับปรุงให้ผลิตเป็นสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังได้ร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยในการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย เข้าถึงช่องทางและโอกาสทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งพัสดุ/ผลิตภัณฑ์ การให้บริการคลังสินค้าครบวงจร (Fulfillment) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกนารจัดการสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง การจำหน่ายสินค้า ผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ การให้บริการขนส่งสินค้าแช่เย็น/แช่แข็ง (Fuze Post) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและมีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึง เป็นช่องทางการขนส่งและจัดจำหน่ายทั้งแบบออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ หรือร้านธงฟ้า และออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Thailand Post Mart ตลอดจนการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไปยังแพลตฟอร์มอเมซอน และอีเบย์อีกด้วย