posttoday

RSPO มาตรฐานปาล์มยั่งยืน ทางเลือกเพิ่มมูลค่า เข็มทิศสู่ความยั่งยืน

03 กรกฎาคม 2567

พาณิชย์ แนะผู้เกษตรกร-ผู้ประกอบการปาล์มน้ำมัน เร่งปรับตัวรับมาตรฐาน RSPO ชี้เป็นทางเลือกเพิ่มมูลค่า และทางรอดสู่ความยั่งยืนอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยว่า ปัจจุบันท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้าง ผู้บริโภคทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น การปรับตัวสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค เป็นต้น จึงมีบทบาทต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยไทยมีผลผลิตปาล์มน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.49 ของผลผลิตปาล์มโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วน 60.49% และ 21.79% ตามลำดับ ไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 6 ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มกว่า 4 แสนครัวเรือน ข้อมูลปี 2566 พบว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยมีจำนวน 18.27 ล้านตัน และสามารถผลิตเป็นน้ำมันปาล์มได้ 3.33 ล้านตัน โดยมีสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์ม แบ่งเป็น การใช้ในประเทศ เพื่อการบริโภคและใช้เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร้อยละ 67.56 สำหรับส่งออก  24.64% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินเดีย ( 86.78%) เมียนมา ( 9.24% ) เคนยา ( 2.05%) และจีน (0.70%) ตามลำดับ และเป็นสต็อกในประเทศ  7.80%  ซึ่งการผลิตน้ำมันปาล์มแบบดั้งเดิม มักเผชิญกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า มลพิษทางอากาศ และปัญหาทางสังคม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของชุมชน ดังนั้น ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ได้ตามมาตรฐานสากล

 

มาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO เป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุด เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ผ่านมาตรฐานสากลที่น่าเชื่อถือ สอดรับกับแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) เน้นความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดย RSPO ได้กำหนดหลักการ 8 ข้อ เพื่อเป็นกรอบการผลิตปาล์มที่ยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการ การปฏิบัติตามกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 

1) ความมุ่งมั่นให้เกิดความโปร่งใส 
2) การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ 
3) ความมุ่งมั่นในการทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว 
4) วิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดของผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 
5) ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 
6) ความรับผิดชอบต่อพนักงาน บุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากผู้ปลูกปาล์มและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 
7) การพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ 
8) ความมุ่งมั่นในการปรับปรุงกิจกรรมหลักอย่างต่อเนื่อง

 

โดยมาตรฐาน RSPO จะมีบทบาทเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกฎเกณฑ์การค้าโลกที่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น สหภาพยุโรป (EU) กำหนดกฎระเบียบสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) ที่ครอบคลุมสินค้าปาล์มน้ำมัน กำหนดให้ผลผลิตของสินค้าต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และมีกระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้นมาตรฐาน RSPO ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน เช่น มาเลเซีย รับซื้อผลผลิตที่มีมาตรฐาน RSPO ในราคาที่สูง สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายย่อยในการขอรับการรับรอง RSPO เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างรายได้ที่สูงขึ้น โดยมีบริษัทน้ำมันปาล์มรายใหญ่สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO อินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จในการขายน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรอง RSPO ให้กับผู้ซื้อจากต่างประเทศผ่านทางแพลตฟอร์มการซื้อขาย PalmTrace ของ RSPO ส่งผลให้สมาคมเกษตรกรมีรายได้รวมกว่า 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 3 ปี (2563 -2565) 

 

มาตรฐาน RSPO ในกลุ่มประเทศผู้บริโภค เช่น ในยุโรป เป็นผู้นำระดับโลกในการผลักดันการบริโภคน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ปี 2021 ยุโรปเป็นกลุ่มผู้บริโภคปาล์มยั่งยืนรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น 45% ของการบริโภคน้ำมันปาล์มยั่งยืนทั่วโลก ญี่ปุ่น ก่อตั้งเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนญี่ปุ่น (Japan Sustainable Palm Oil Network: JaSPON) ในเดือนเมษายน 2562 เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อและการใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในตลาดญี่ปุ่น มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาใน
การผลิตน้ำมันปาล์มและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม 

 

ประเทศไทย จากข้อมูลเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืน รายงานว่า เดือนมีนาคม 2567 ไทยมีสมาชิกผู้ปลูกปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน RSPO รวม 87 กลุ่ม ประกอบด้วย เกษตรกรรายย่อยอิสระ 83 กลุ่ม และรายใหญ่ (ที่มีสวนและโรงงาน) 4 กลุ่ม โดยสมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO จำนวน 25 กลุ่ม 9,261 ราย พื้นที่ได้รับการรับรอง 326,718.75 ไร่ คิดเป็นเพียง  5.12% ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย 246,902.44 ไร่ และบริษัทที่มีโรงสกัดน้ำมันปาล์ม 79,816.31 ไร่

 

มาตรฐาน RSPO เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทย ที่มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการผลิตน้ำมันปาล์มที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากผู้ประกอบการมีความพร้อมในการตรวจสอบ และยืนยันที่มาของผลิตภัณฑ์ ผ่านการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ การรวมกลุ่ม และด้านเงินทุน จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ก็จะเป็นโอกาสในการผลิตปาล์มที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในโลกปัจจุบัน รวมทั้งเป็นโอกาสในการรักษาความสามารถทางการแข่งขัน เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด และการขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้อีกด้วย