posttoday

5 SME คว้ารางวัลต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ บูมเศรษฐกิจโต 100 ล้านบาท

07 สิงหาคม 2567

ดีพร้อม มอบรางวัล 5 ต้นแบบการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ พัฒนากระบวนการผลิต ดันสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม บูมเศรษฐกิจโตกว่า 100 ล้านบาท

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ดีพร้อม มอบรางวัล DIPROM Agro-Machinery Award 2024 ปีที่ 4 เพื่อคัดผลงานเป็นแบบการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ จำนวน 5 ผลงาน ประกอบด้วย 

1.รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ระบบ AI สำหรับตรวจวัดปริมาณอาหารในการเลี้ยงกุ้ง โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด  แอนอินเตอร์ฟู้ด จ.สุราษฎร์ธานี

ระบบ AI สำหรับตรวจวัดปริมาณอาหารในการเลี้ยงกุ้ง โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการเลี้ยงกุ้ง ด้วยการใช้ระบบ Auto Feed ติดตั้งกล้องถ่ายเพื่อจับปริมาณขี้กุ้ง ขี้กุ้งสามารถบอกปริมาณการให้อาหารแต่ละวันได้ หากเราสามารถให้อาหารในปริมาณที่กุ้งกินจริง ก็จะสามารถประหยัดต้นทุน ไม่ให้น้ำเสียง่าย 

5 SME คว้ารางวัลต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ บูมเศรษฐกิจโต 100 ล้านบาท

รางวัลชนะเลิศ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แอนอินเตอร์ฟู้ด จ.สุราษฎร์ธานี

เทคโนโลยีที่นำมาใช้คือการวัดขนาดขี้กุ้ง ถ้าขี้กุ้งมีขนาดยาวเกินกว่า 2.5 ซม.แสดงว่าให้อาหารเกิน ก็จะมีการปรับเพื่อให้ประมาณอาหารอยู่ระดับสมดุล เพื่อให้ได้ผลจอบแทนสูงสุด และยังสามารถดูสีของขี้กุ้ง หากขี้กุ้งมีสีขาวแสดงว่าลำไส้ของกุ้งมีปัญหา จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

2.รางวัลรองชนะเลิศรองอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องฝานกล้วย โดยวิสาหกิจชุมชนพลาญข่อย จ.อุบลราชธานี

ผู้ผลิตกล้วยเบรกแตก ด้วยการนำเครื่องฝานกล้วยมาใช้แทนการฝานกล้วยด้วยมือแบบดั้งเดิม ช่วยลดระยะเวลาการทำงาน  ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 1,200 ซองต่อเดือน เป็น 1,500 ซองต่อเดือน

5 SME คว้ารางวัลต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ บูมเศรษฐกิจโต 100 ล้านบาท

3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องผ่าผลสดโกโก้แบบอัตโนมัติ โดยวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้ จ.สระแก้ว

มีการออกแบบใบมีดที่ช่วยป้องกันอันตรายจากการผ่า และใบมีดสามารถผ่าโกโก้ตามขนาดที่ต่างกัน สามารถปรับความเร็วในการผ่า และมีระบบนับจำนวนผลที่ผ่าแล้วแบบดิจิทัล ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นวันละ 190 กิโลกรัม  สร้างโอกาสในการขาย 8,640,000 บาทต่อปี ลดต้นทุนได้ 2,000,000 บาทต่อปี 

5 SME คว้ารางวัลต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ บูมเศรษฐกิจโต 100 ล้านบาท

4.รางวัล Technical Challenge ได้แก่ หม้อต้มปลาอัจฉริยะ (Boiler Machine) บริษัท ส.ชีรา แอนโชวี่ จำกัด จ.ระยอง

การออกแบบหม้อต้มที่มีระบบการควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาการต้ม ที่สามารถแสดงผลและบันทึกค่าได้ ส่งผลให้สามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้ดีเท่าๆ กันทุกรอบการผลิต สามารถลดต้นทุน 1,780,704 บาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 60  และสามารถเพิ่มยอดขายได้เป็น 5,250,000 บาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 15

5 SME คว้ารางวัลต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ บูมเศรษฐกิจโต 100 ล้านบาท

SME 5 รายที่ได้รับรางวัลเกษตรอัจฉริยะ

5.รางวัล Knowledge Sharing ได้แก่ ระบบควบคุมอุณหภูมิและแสดงผลในกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์เพื่อควบคุมอุณหภูมิไอน้ำที่ใช้ในรางนึ่งเส้นก๋วยเตี๋ยว โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ตุ้น หมี่ตะคุ จ.นครราชสีมา

ช่วยลดต้นทุนลงได้ 2,154,000 บาทต่อปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น 15,600 กิโลกรัมต่อปี เนื่องจากสามารถควบคุมอุณหภูมิไอน้ำได้คงที่ ทำให้สามารถเพิ่มความเร็วการผลิตได้เพิ่มขึ้น ของเสียลดลง

เทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปจะช่วยยกระดับรายได้ของธุรกิจเกษตรต่อยอดสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม อันเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าในปี 2567 จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท

นายภาสกร กล่าวว่า ปัจจุบัน ดีพร้อม ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 218 กิจการ 

ขณะที่ผู้รับบริการมาจากหลากหลายประเภทธุรกิจ ทั้งธุรกิจประเภทแปรรูปอาหาร เช่น ปลากะตักต้มตากแห้ง ขั่วหมี่กรอบโคราช เนื้อแผ่น คั่วไก่อบแห้ง กล้วยกรอบแก้ว ข้าวเกรียบ ข้าวหมาก ขิงแปรรูป น้ำผึ้ง ช็อกโกแลต โกโก้ กาแฟ และน้ำผลไม้ เป็นต้น รวมถึงธุรกิจประเภทแปรรูปที่ไม่ใช่อาหาร เช่น กระเป๋าต้นกก น้ำมันนวดสมุนไพร เครื่องสำอาง ผ้าพิมพ์ใบไม้ และน้ำยาซักผ้าไหม เป็นต้น 

สินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในสินค้าที่สำคัญของไทย และเป็นแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำ เนื่องจากจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบของสินค้าวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูป ตลอดจนธุรกิจเกษตรยังขาดการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเร่งดำเนินการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ช่วยยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัย รวมถึงสามารถทดแทนแรงงานและเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคต