posttoday

ETDA เตรียมออกกฎหมายกำกับแพลตฟอร์มต่างชาติ

12 กันยายน 2567

คาดเปิดรับฟังความเห็น ต้น ต.ค.นี้ ภายใต้ร่างประกาศ อี มาร์เก็ตเพลส เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าแพลตฟอร์มต่างชาติให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกันกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงประเด็นต้องจดทะเบียนในไทย ภายใต้กรอบข้อตกลงทางการค้า

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า มาตรการในการควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติกระทรวงดีอี โดยปลัดกระทรวง เป็นประธานคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐร่วมกับ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะออกร่างประกาศ อี มาร์เก็ตเพลส ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างชาติให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกับสินค้าของผู้ประกอบการไทย คาดว่า จะนำร่างประกาศดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในไม่เกินต้นเดือน ต.ค. 2567 นี้ 

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยง กำหนดรายชื่อแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่เข้าข่ายความเสี่ยง ว่ามีใครบ้าง จากนั้นต้องกำหนดมาตรฐานของสินค้าให้แพลตฟอร์มต่างชาติปฎิบัติตามเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่ต้องมีทั้งมาตรฐานม.อ.ก.และอ.ย. สามารถตรวจสอบได้ ผู้ใช้บริการต้องสามารถร้องเรียนได้ ตลอดจนประเด็นการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการต้องไม่สุ่มเสี่ยงกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับขั้นตอนการประกาศบังคับใช้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม จากนั้นจึงเสนอเข้าอนุกรรมการด้านกฎหมาย และเสนอให้บอร์ด เพื่ออนุมัติเห็นชอบ โดยหลังจากประกาศต้องให้เวลากับแพลตฟอร์มว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในกี่วัน เพื่อให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีเวลาในการเตรียมระบบตรวจสอบตามมาตรฐานของประเทศไทย

นายชัยชนะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ETDA และ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ร่างพ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเดิมการพิจารณาอำนาจเหนือตลาดของ กขค.นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก่อน ทว่าแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่ข้อมูลอยู่ต่างประเทศ กขค.จึงไม่มีอำนาจในการขอข้อมูลจากต่างประเทศ 

แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และครม.มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากยังมีการต่อสู้ทางความคิดกันอยู่ ระหว่างคนร่างกฎหมายและคนต้องการบังคับใช้ในประเด็นควรกำกับดูแลหรือไม่ หากกำกับดูแลจะเป็นการปิดกั้นเทคโนโลยีด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ETDA มีแนวคิดในการหาเงินทุนสนับสนุนให้กับ SME รายย่อยด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อ ETDA ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านดิจิทัลกับชุมชนต่างๆ กลับพบปัญหาว่า ชุมชนไปต่อไม่ได้ หรือ บางทีการสร้างโค้ชในพื้นที่ก็ไม่มีความต่อเนื่อง ETDA จึงร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการชี้เป้าต่อยอดหาเงินทุนในการสนับสนุนรวมถึงการยกระดับ SME ชุมชนสู่ วิสาหกิจเพื่อสังคม