posttoday

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ติดตามความคืบหน้า TEMU จดบริษัทในไทยใกล้ชิด

30 กันยายน 2567

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย TEMU สามารถจดตั้งบริษัทในไทยได้ 2 รูปแบบ ตามกฎหมายประกอบธุรกิจต่างด้าว และผ่านการส่งเสริมจากบีโอไอ ย้ำติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมเปิดตัวเลข 8 เดือน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา ท็อป 3 ต่างชาติ ลงทุนไทย

          นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการจดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศไทยของแพลตฟอร์ม TEMU ว่า ต้องขึ้นอยู่กับ TEMU ว่าต้องการเข้ามาตั้งบริษัทในประเทศไทยในรูปแบบไหน เนื่องจากการตั้งบริษัทในประเทศไทยมี 2 รูปแบบ คือ การจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทยรูปแบบการถือหุ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คือ โดยคนไทย 51% ต่างชาติ 49% ตรงนี้ต้องมาขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

          ทั้งนี้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวระบุรายการประเภทธุรกิจที่สงวนไว้ให้แก่บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงของประเทศ และบางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบริการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะช่วยให้ชาวต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจบางประเภทที่โดยปกติแล้วเป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติได้

          แบบที่สอง คือ สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการการสนับสนุนพิเศษจากทางรัฐบาลคือการยื่นขอบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หากบริษัทต่างชาติใดมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่บีโอไอระบุไว้ จะสามารถยื่นคำร้องนี้เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของบริษัท 100% การยกเว้นภาษีบางประเภท และการสนับสนุนด้านใบอนุญาตการทำงาน รวมถึงวีซ่าสำหรับผู้เข้ามาทำงานในไทย เป็นต้น หลังจากนั้นให้มาขอใบอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

การที่ TEMU เข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทย หรือ ตั้งตัวแทนจำหน่ายในไทย จะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนสินค้าได้เมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า

          นางอรมน กล่าวว่า 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 2567) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบ ธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 535 ราย  

          แบ่งเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 143 ราย การขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือ ความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 392 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 100,062 ล้านบาท 

          นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามา ลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 136 ราย เงินลงทุน 53,176 ล้านบาท, สิงคโปร์ 82 ราย เงินลงทุน 8,438 ล้านบาท  และสหรัฐอเมริกา 76 ราย เงินลงทุน 3,589 ล้านบาท