posttoday

ญี่ปุ่นขึ้นทะเบียน GI สับปะรดห้วยมุ่น ผลไม้กลายพันธุ์จากอุตรดิตถ์

18 พฤศจิกายน 2567

"สับปะรดห้วยมุ่น"ผลไม้ไทยรายแรก ได้รับการขึ้นทะเบียน GIทางการญี่ปุ่น เป็นสินค้าเกษตร รายการที่3 ต่อจากกาแฟดอยช้างและดอยตุง ผู้ประกอบการมากกว่า850 ราย เห็นอนาคตสดใสสร้างมูลค่าตลาดกว่า 1,200 ล้านบาท

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “สับปะรดห้วยมุ่น”เป็นผลไม้ไทยรายแรกที่ได้รับ การขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของประเทศญี่ปุ่นถือเป็น สินค้าเกษตรรายการที่ 3 ได้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง 

“สับปะรดห้วยมุ่น”มีเอกลักษณะเด่นเรื่องของเนื้อที่หนาและนุ่ม รสชาติหวาน พร้อมทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้เป็นที่ต้องการสำหรับผู้บริโภคญี่ปุ่น โดยประเทศไทยผู้ประกอบการมากกว่า 850 ราย ที่กำลังการผลิตกว่า 180,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 1,200 ล้านบาท รัฐบาลมั่นใจการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) เป็นการเริ่มต้นเพื่อยกระดับและพัฒนาการประกันคุณภาพให้กับสินค้า ช่วยให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้มั่นใจ เพิ่มการบริโภค สับปะรดห้วยมุ่น มากขึ้น
 

นอกจากสินค้าด้านการเกษตรสับปะรดสด ที่ได้รับความนิยมแก่ผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลยังได้พบว่า ตลาดการนำเข้าสับปะรดของประเทศญี่ปุ่นยังมีความต้องการสับปะรดแปรรูปสูงเช่นเดียวกัน เช่น น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง และสับปะรดอบแห้ง  โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญในการส่งออกสับปะรดมากเป็นอันดับ 4 รองจากฟิลิปปินส์ คอสตาริกา และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยจะสามารถ นำเอาประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)  ในการลดภาษีนำเข้า เพื่อเพิ่มความได้เปรียบให้กับการส่งออกสับปะรดของประเทศได้ 
 

 

“กรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งเดินหน้าสานต่อความร่วมมือเพื่อขยายตลาดการค้า การขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในรายการใหม่ ๆร่วมทั้งความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ร่วม ระหว่างประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาการทำตลาดกลางสินค้าเกษตร ขยายตลาดผักผลไม้ไทยสู่ญี่ปุ่นให้ได้เพิ่มมากขึ้น” นายคารม กล่าว

สับปะรดห้วยมุ่น เป็นสินค้าเกษตร ผลไม้ไทยขึ้นชื่อ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อ  17 มิถุนายน 2556 ชาวบ้านได้นำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียมาปลูกใน ต.ห้วยมุ่น  อ.น้ำปาด แล้วเกิดการกลายพันธุ์ รสชาติหวานอร่อย รับประทานแล้วไม่ระคายคอ.