อาสาสมัครลาพักร้อน ไปสอนเด็กบนดอย
แรงบันดาลใจของการทำโครงการ “เพื่อเด็กดอย” หรือ For Dek Doi ของครูต้อม-สุวรรณ พุฒพันธ์
โดย...มีนา
แรงบันดาลใจของการทำโครงการ “เพื่อเด็กดอย” หรือ For Dek Doi ของครูต้อม-สุวรรณ พุฒพันธ์ ที่คิดฝันว่าอยากเป็นครูบนดอยสอนเด็กมาโดยตลอด ระหว่างที่เรียนหนังสือเขาได้มีโอกาสเป็นครูบนดอย และค้นพบว่านี่แหละคืออาชีพที่เขาทำแล้วมีความสุข แต่เมื่อเรียนจบก็มีเหตุให้ต้องไปทำงานเป็นช่างคอมพิวเตอร์อยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนที่สุวรรณจะลาออกจากงานประจำเมื่อปี 2550 และสมัครเข้าไปเป็นครูอาสาอย่างเต็มตัวในโครงการโรงเรียนของหนู จ.เชียงใหม่ ทำอยู่ได้ปีกว่าๆ ทำให้เขาได้สัมผัสชีวิตเด็กดอยอย่างแท้จริง
“บนดอยมีครูแค่เพียง 1-2 คน ผมเป็นทั้งคุณครู ภารโรง เป็นหมอรักษาคนป่วย ได้อยู่กับชนเผ่ามูเซอตั้งแต่ปี 2551 พอหมดสัญญาจึงประสานงานกับอำเภอ ขอเป็นลูกจ้างชั่วคราว ขอไปเป็นครูบนดอยอยู่ที่ อ.อมก๋อย ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา พอมาอยู่ที่อมก๋อย ผมเห็นชีวิตย้อนหลังไปมากกว่า 30 ปี ชาวบ้านยังใช้วิถีชีวิตเดิมๆ ไปไหนใช้วิธีเดินเท้า กินข้าวกับน้ำพริก คนในหมู่บ้านไม่มีใครจบประถมและไม่รู้หนังสือ ประกอบกับเด็กพออายุ 12 ก็ต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำงาน เด็กจึงอ่านออกแค่ชื่อของตัวเอง ไม่มีใครจบหลักสูตรพื้นฐานประถม 6 เลย”
ครูต้อมจึงอยากส่งเสริมเด็กให้ได้รับการศึกษา จึงคิดโครงการหาทุนเพื่อเด็กดอยขึ้นปลายปี 2553 เพื่อนำเด็กบนดอยมาเรียนข้างล่าง และทำโครงการต่อเนื่องมา 7 ปีแล้ว เนื่องจากได้ผู้ใจบุญคนไทยในประเทศไต้หวันมอบเงินทุนปีละ 3หมื่นบาท เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เด็กดอยได้ลงมาเรียนหนังสือ และมีผู้ใจบุญบริจาคชุดนักเรียนมาให้เด็กๆ บนดอยด้วย
โครงการให้ทุนการศึกษาเพื่อเด็กบนดอยมาเรียนหนังสือบนพื้นราบซึ่งสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางไกล ครูต้อมจึงคิดทำโครงการต่อยอดจากเพื่อเด็กดอย โดยให้พี่ๆอาสาสมัครได้ขึ้นไปสัมผัสกับวิถีชีวิตเด็กบนดอย กลายเป็นกิจกรรมอาสาลาพักร้อนมาสอนเด็กดอย จัดในช่วงวันหยุดติดกัน 3-4 วัน ราวเดือน ต.ค.-ม.ค.ของทุกปีจุดประสงค์หลักคือให้ผู้สนใจไปสอนหนังสือน้องๆ บนดอย และเรียนรู้วิถีชีวิตของกันและกัน ซึ่งดำเนินกิจกรรมมาเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว หากใครสนใจจะไปสัมผัสชีวิตเด็กบนดอยสามารถเข้าไปชมได้ที่หน้าเฟซบุ๊ก 4 เด็กดอยซึ่งครูต้อมและแอดมินที่เคยเป็นอาสาสมัครในโครงการจะเป็นผู้ช่วยตอบคำถาม
“ถ้ามีกิจกรรมเราจะโพสต์ในเฟซบุ๊กแจ้ง 2-3 เดือนล่วงหน้า ใครสนใจไปสมัครได้เลย ครั้งหนึ่งๆ ต้องการครูอาสาไม่เกิน 30 คน เพราะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ก่อนจะจัดเราจะไปดูบ้านชาวบ้านนอนได้กี่คนต่อหลัง หมู่บ้านไหนมีคนไปเยี่ยมเยอะแล้วเราจะไม่ไปปีหนึ่งๆ เราจะจัดไม่เกิน 3-4 ครั้ง/ปี เราจะเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ของอมก๋อยซึ่งมีทั้งหมด 195 หมู่บ้าน” ครูต้อม กล่าว
ด้านอดีตอาสามัครลาพักร้อนไปเป็นครูบนดอย เหลียง-สวิตต์ ฤกษ์ยินดี วัย 24 อาชีพนักวิเคราะห์ข้อมูลที่เคยไปร่วมโครงการแล้วได้แง่คิดมากมาย เพียงแค่เสียค่าสมัครพันกว่าบาทซึ่งเงินจำนวนนี้ครูต้อม
จะนำไปซื้ออุปกรณ์การเรียน ซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง รวมทั้งนำอาหารไปช่วยเหลือชาวบ้านบนดอยอมก๋อยด้วย
“เราต้องไปนอนอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งพวกเขาก็ยากจน ถ้าเราไปนอนแล้วรบกวนเขาก็ไม่เหมาะ จึงควรมีอาหารติดไม้ติดมือไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนอยู่แล้ว ซึ่งบรรยากาศที่ผมเคยไปคือ เราต้องนั่งรถขึ้นไปบนภูเขา 50 กิโลเมตร นั่งรถนาน 3 ชั่วโมง 10 คนนั่งกระบะไปด้วยกัน ซึ่งเราจะไปเจอเพื่อนๆ ซึ่งมาจากต่างทิศ โดยมีครูต้อมเป็นผู้นำกลุ่ม สิ่งที่ผมเห็นแล้วประทับใจคือ หมู่บ้านที่ผมไปเป็นแหล่งที่ไม่ค่อยเจริญ ชาวบ้านกินอยู่อย่างอัตคัดมาก ชาวบ้านพูดไทยไม่ค่อยชัด แต่เด็กที่ผ่านการเรียนจึงพูดภาษาไทยได้ ซึ่ง 3 วันที่อยู่บนดอย พวกเราจะสอนเด็กอ่านหนังสือง่ายๆ เช่น สอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย นับเลข และมีกิจกรรมสันทนาการ กลุ่มผู้ชายก็แยกย้ายกันไปซ่อมแซมบ้านเรือนชาวบ้าน ปรับพื้นสนามหญ้าของโรงเรียน เป็นต้น”
สิ่งที่สวิตต์ได้จากการไปทำกิจกรรมคือ ได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่เขาไม่เคยเห็น “ผมไม่เคยไปหมู่บ้านบนดอยเลย ไปเจอความเป็นอยู่ตกใจ ทำไมอยู่กันอัตคัดจัง ไม่มีไฟฟ้า ต้องไปอาบน้ำป่า ต่อท่อมาจากน้ำตก ไม่มีไฟ บ้านไหนรวยหน่อยมีโซลาร์เซลล์ใช้ ดึกๆ ก็ต้องนอนกันแล้ว เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราไปสอนเด็กๆ เด็กๆ ก็พาเราเดินป่า พาไปเล่นน้ำตก เป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากครับ” สวิตต์ บอก
ติดตามกิจกรรมของกลุ่มทาง 4dekdoi.com หรือเฟซบุ๊ก 4dekdoi หรือครูต้อม-สุวรรณ โทร. 08-1881-3840