posttoday

สถิติผู้บริโภคร้องเรียนปี59กว่า 3.6พันเรื่อง ปัญหาสุขภาพ-สาธารณสุขแชมป์

11 มกราคม 2560

สถิติผู้บริโภคร้องเรียนปี 2559 พุ่ง 3,622 เรื่อง จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ การเงิน การบริการสาธารณะ และโทรคมนาคม

สถิติผู้บริโภคร้องเรียนปี 2559 พุ่ง 3,622 เรื่อง จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ การเงิน การบริการสาธารณะ และโทรคมนาคม

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขานิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ช่วงปี 2559 ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภครวมทั้งสิ้น 3,622 เรื่อง  แบ่งเป็นปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข จำนวน 680 เรื่อง ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร 626 เรื่อง ปัญหาด้านบริการสาธารณะ 553 เรื่อง ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 541 เรื่อง ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 450 เรื่อง สินค้าและบริการทั่วไป 372 เรื่อง และปัญหาที่อยู่ที่อาศัยจำนวน 138 เรื่องตามลำดับ

นายจุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธานกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการดำเนินงานของ คอบช.ใน 3 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น เช่น กรณีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ การเปลี่ยนบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท การควบคุมราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ การเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองสินค้าใหม่ที่ชำรุดบกพร่อง และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค รวมทั้งเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน

"คาดหวังว่า ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีฉลากจีเอ็มโอครอบคลุมอาหารที่มีจีเอ็มโอทุกชนิด รวมถึง กสทช.จะสามารถบังคับให้ค่ายมือถือ คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามที่ได้มีมติ กทค. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากกว่า 18,032 ล้านบาท ใน 7 เดือน" ผศ.จุมพล กล่าว

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ กรรมการ คอบช. เขตภาคอีสาน กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ปี 2559 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ พบว่า อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทมีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะรถตู้โดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด โดยเกิดอุบัติเหตุมากถึง 215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน บาดเจ็บ 1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน มีผู้เสียชีวิต 103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน ขอเสนอให้รัฐบาลมีการควบคุมความเร็วในการขับขี่รถโดยสารสาธารณะ มีสัญญาณเตือนเมื่อความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้ขับขี่และผู้บริโภคระมัดระวังร่วมกัน และเข้มงวดกับการตรวจสภาพรถโดยสารมากยิ่งขึ้น หากมีกรณีอุบัติเหตุซ้ำซาก ควรมีมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้ประสานงานภาคตะวันตก กล่าวว่า เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากสื่อออนไลน์ที่มีการโฆษณาเกินจริง เช่น การโฆษณาของคนที่มีชื่อเสียงหรือเน็ตไอดอล แต่ยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาจัดการในเรื่องนี้ได้โดยตรง จึงต้องการให้มีการควบคุมการโฆษณาเกินจริงบนสื่อออนไลน์มากขึ้น และยังต้องการให้จัดการการโฆษณาเกินจริงที่มีความซ้ำซากและยังไม่ได้รับการแก้ไข ให้มีหน่วยงานเข้ามาช่วยดูแล เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อแบบผิดๆ และหลงเชื่อในโฆษณาเกินจริง

นายพงษภัทร ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพและสาธารณะสุข ว่า การใช้ยาคลอโรฟิลด์รักษาโรครูมาตอยด์ ที่ขาดการติดตามรักษาคนไข้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีคนไข้จำนวน 12 คนที่เข้ารับการรักษาแล้วเกิดอาการจอประสาทตาเสื่อม และอาจทำให้มีโอกาสตาบอดได้ จึงควรร้องเรียนเพื่อไม่ให้เกิดกรณีนี้อีก โดยควรมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากหมอ มีการป้องกันความเสียหายจากการเข้ารักษา และต้องการให้มีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือและเฝ้าระวังในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคจากการรักษาพยาบาล

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการ/ผู้แทนเขต 5 ภาคเหนือ กล่าวว่า คอบช.ได้มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคจังหวัดใน 44 จังหวัด เพื่อให้มีพื้นที่ของผู้บริโภคในจังหวัดนั้นมาแก้ปัญหา และช่วยเหลือผู้บริโภคที่มีปัญหาในจังหวัด เพราะการก่อตั้งสภาผู้บริโภคจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงเป็นการรณรงค์ให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสิทธิของตนเองและสามารถร้องเรียนถึงสิทธิที่มี ซึ่งเหมือนเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในสิทธิของตนเองมากยิ่งขึ้น